มนต์ขลังแห่งเมืองพาราณสี

ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์หรือเมืองแสวงบุญของอินเดีย เมืองพาราณสีถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเมืองเหล่านั้น หากจะขุดคุ้ยเอาตำนานเมืองนี้มาคุยหรือสาธกให้ฟัง เห็นทีจะต้องเอาเสื่อเอาหมอนมานอนฟังกันเลย เพราะมันยาวมากๆ ด้วยความสามารถพิเศษของผม ผมจะเล่าให้ฟังแบบย่อๆ เมืองนี้มีประวัติมาช้านานก่อนสมัยพุทธกาล น่าจะ 3,000 กว่าปี คำว่า พาราณสี เป็นภาษาบาลี หากเป็นภาษาสันสกฤต อ่านว่า วาราณสี ในยุคอังกฤษปกครอง ฝรั่งตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เจริญปุระ เออไม่ใช่ ว่าบาณารัสหรือบาณาเรส (Banaras, Banares) คำว่า วาราณสี มาจากแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำวารุณะ และแม่น้ำอสี มาเชื่อมบรรจบพบกัน ก็เลยได้ชื่อว่า วาราณสี แม่น้ำทั้งสองสาย ปัจจุบันด๊ำดำและเหม็นด้วย ยิ่งกว่าคลองแสนแสบ คลองแสนแสบเห็นยังต้องอาย

                                                                                    
ประมาณปี 2546 ปีแรกที่ผมได้ย่างก้าวมาเป็นส่วนเกินของเมืองพาราณสี ปีนั้นเป็นปีพิเศษอย่างมาก คือฟ้าร้องลมแรงมากๆ แต่ฝนไม่ตก เหมือนเป็นการเกริ่นแสดงความดีใจ ของเจ้าของสถานที่ ว่านี้คือการต้อนรับบุคคลผู้มีบุญมาเยือน ปีนั้นแห้งแล้งมาก ฝนก็ไม่ค่อยตก อากาศก็ร้อนประมาณ 47 องศา ข้าวของก็แพง เป็นช่วงที่ใครๆก็ไม่อยากจะมา แต่ผมมา เพราะไม่มีคนบอก และลืมถามเทพธิดาพยากรณ์(อากาศ) ก่อนมา

ผมเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมาลงที่กัลกัลต้าหรืออีกอย่างหนึ่งที่เขานิยมเรียกกันก็คือ โกลกัลต้า ต้องเดินทางต่อด้วยรถไฟไปพาราณสีอีก 1 คืน กว่าจะมาถึงเมืองพาราณสี ทุลักทุเลพอสมควร แค่เห็นผู้คนที่โกลกัลต้าว่าเยอะแล้ว มาเห็นที่สถานีรถไฟพาราณสี คิดว่าบ้านนี้เมืองนี้ คนต้องโผล่มาจากถ่านหินแน่ๆ  เพราะหาคนขาวยากมากๆ คิดว่าทำไมคนมันเยอะอย่างนี้ ขณะรถไฟจอด เห็นกุลีหรือพวกแบกของโดยใช้หัว เดินมาถามว่า จะไปหอเสนใช่ไหม ผมก็ไม่ได้สนใจ เพราะก่อนจะมา แม่ได้สอนเอาไว้ตลอดว่า อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าและหน้าแปลก แต่ก็แปลกใจนิดๆว่าพวกนี้มันรู้ได้ไงว่าเราจะไปไหน

สักพักหนึ่งมีพวกหน้าม้า วิ่งกรูเข้ามา เหมือนเห็นเราเป็นอะไรสักอย่าง วิ่งเข้ามาถาม พร้อมเสนอราคาเช่ารถ "B.H.U. 270 รูปีๆๆๆๆๆๆๆ"

สามล้อหรือที่บ้านเราเรียกว่ารถตุ๊กๆ แต่ที่เชียงรายบ้านผมเค้าเรียกว่ารถลำบาก เพราะคำว่าตุ๊ก หมายถึงลำบาก (เช่นคำว่าตุ๊กกายตุ๊กใจ หมายถึงลำบากกายลำบากใจ) หากอ่านว่าตุ๊กๆ แปลว่าลำบากมาก แต่สำหรับสามล้อที่นี้ มันนั่งลำบากจริงๆนะ ทั้งลำบากกายและจมูก เพราะบางครั้ง สถานะการณ์มันสร้างคนให้เป็นฮีโร่ เบาะด้านหลังเต็ม ก็ต้องจำเป็นมานั่งข้างๆคนขับ (เบาะด้านหลังหากมีผู้หญิงขึ้น เขาจะให้ผู้หญิงนั่ง ส่วนผู้ชายต้องย้ายมานั่งข้างๆคนขับ) และลองนึกดูว่า ถ้าอากาศร้อนมากๆ แล้วคนขับไม่ชอบอาบน้ำ ปอดจะทำงานหนักขนาดไหน ปลายรูจมูกก็อยู่ห่างจักกะแร้คนขับแค่ปลายไม้ขีด บางทีขนรักแร้กับขนจมูกจะพันกันอยู่แล้ว
พวกนี้ยังวิ่งมารุมล้อม ตอนนั้นผมมีความรู้สึกเหมือนดาราเกาหลีคนหนึ่ง ชื่อ ซุก จีวร มีแฟนคลับห้อมล้อม ฝุ่นตลบ พร้อมตะโกนแหกปาก "B.H.U"

ผมคิดในใจว่า เอ้ย มันรู้ได้ไงฟะ ว่าเราจะไป B.H.U. หรือพวกนี้เป็นญาติกับเทพธิดาพยากรณ์ผู้รู้ล่วงหน้า แล้วมันก็เหมือนรู้อีกนะ ว่าเราคิดอะไร มันก็บอกว่าไม่รู้ได้ไงว่าจะไปไหน(ทำนองนั้น) เพราะเสือกเขียนเอาไว้ติดข้างกล่องเบียร์และมีเชือกฟางมัดติดเอาไว้ด้วยว่า B.H.U. หอเสน เออ...แล้วไป นึกว่าอ่านใจคนได้

อย่างที่ได้บอกเอาไว้ในตอนต้นรายการมิติลึกลับว่า จริงๆ หากจะพรรณาเมืองพาราณสีนี้ อย่างน้อยๆ ต้องมีประมาณ 5 ตอนครึ่ง เพราะมันยาว แต่ผมจะย่นย่อให้เหลือเรื่องที่ผมประทับใจและบ่งบอกถึงความเป็นเมืองพาราณสีให้ฟัง ว่ามันเมืองนี้มันมีเอกลักษณ์แบบใด เมื่อมาเที่ยวหรือมาอยู่แล้ว รู้เลยว่านี้มันคือเมืองพาราณสีจริงๆ ไม่มีเจือบ่นด้วยแสงสีเสียง อะแฮ้ม....พร้อมหรือยัง

                                                                                
1.บ้านเมืองโบราณ แผนผังบ้านเมืองก็แบบโบราณๆ ปัจจุบันนี้ขยายถนนก็ไม่ได้ คนก็เยอะขึ้นทุกวัน แต่ถนนเท่าเดิม บ้านผู้คนส่วนมากไม่มีหลังคา สโลแกนของเมืองพาราณสีก็คือ "เจริญในความเสื่อม" เจริญในด้านความเชื่อวัฒนธรรม แต่สภาพบ้านเรือนเสือมโทรมมากๆ

2.ผู้คนไม่มีระเบียบวินัย ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ บนท้องถนน คำว่า กฎหมายจราจร มีเอาไว้ในแค่ตำราจริงๆ ในภาคปฎิบัติ ไม่มีใครทำกันเลย บางคนขี่รถส่วนทางมาดื้อเลยๆ พวกที่เดินอยู่สองข้างทางก็เดินเรียงหน้ากระดานประมาณ 6-8 คน บางคนก็ยืนคุยกัน เกือบกลางถนน

3.เมืองพาราณสีก็เป็นหนึ่งใน 4 ตำบลที่มีความสำคัญกับพุทธประวัติซึ่งเรียกว่า สารนาถ เป็นที่มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ครบครั้งแรกในโลก และเป็นที่ประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก และเป็นที่ประดิษฐานตราสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย คือ หัวสิงห์พระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ 5 รูปี สำหรับเข้าไปยลโฉม

4.พาราณสีมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่าคงคา และเป็นแม่น้ำที่ชาวฮินดูต่างก็ปรารถนาอยากจะมาอาบมาดื่มหรือท้ายที่สุดของชีวิตก็อยากให้ร่างของตัวเองมาเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

          ขยะที่เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านนำมาสักการะบูชาแม่น้ำคงคา

5.ยังคงเป็นเมืองที่ยังคงชื่อโบราณเอาไว้จวบกระทั่งปัจจุบันนี้นั่นก็คือพาราณสีหรือวาราณสี

จริงๆเรื่องที่ผมอยากจะเล่า ไม่ใช่เรื่องเหล่านี้หรอก แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น เคยได้ยินคำพูดหนึ่ง ที่เป็นสโลแกนของคนที่มาพาราณสี นั่นก็คือ "หากมาพาราณสีแล้วไม่ได้กินปลาที่แม่น้ำคงคา แสดงว่ายังมาไม่ถึงพาราณสีอย่างแท้จริง" ไหมครับ โอ๊วแม่เจ้า....แค่ได้ฟังก็สลดสยองขนหน้าแข้งลุกแล้ว

8 ปีกับการสูญเสียความบริสุทธิ์ ในด้านหน้าตา (คือมาอยู่ตั้งแต่หน้าตาเป็นละอ่อน) ให้กับเมืองพาราณสี ผมไม่รู้ว่าผมกินปลาที่เอามาจากแม่น้ำคงคาไปกี่กิโลแล้ว ลองคิดดูว่า ศพที่ตายๆไป เขาไม่ได้เผาทุกศพนะ บางศพก็เอาโยนลงน้ำ ยิ่งศพคนจนๆเอาผ้าขาวห่อก็โยนลงน้ำ เป็นภักษาของปลาและสัตว์น้ำบางชนิด สังเกตุง่ายๆ เวลาแม่น้ำคงคาลดในช่วงปลายเดือนตุลาหรือต้นเดือนพฤศจิกา โครงกระดูกอีกฝากหนึ่งเต็มไปหมด อนิจจา...หน้าร้อนนอนห่มผ้า จะไม่มีบ้างเชียวหรือที่ปลาจะไม่กินศพเหล่านั้น

                                                                               

กาลครั้งหนึ่ง สอง สาม นานมาแล้ว เคยมีรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าไปซื้อปลาที่ตลาดปลา (เรียกว่าโกโดลเลีย) เนื่องจากธรรมชาติทางน้ำของอินเดียยังสมบูรณ์มาก ปลาแต่ละตัว ตัวใหญ่ๆทั้งนั้นเลย Believe it or not จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ บางตัวเท่ากับเด็กเลยนะครับ เด็กอายุ 5 ขวบ และเป็นโรคขาดสารอาหาร แขกฝ่าท้องปลาออกมา พบศพครับ ศพของปลาตัวเล็กๆที่ปลาตัวใหญ่ๆกินมันเข้าไป

                                                                                   

เขาบอกว่า ถ้าจะทานปลาที่แม่น้ำคงคาให้อร่อยต้องเอาไปทำเป็นปลาชูฉิครับ ถึงจะอร่อย จริงๆนะ หากมาเที่ยวที่เมืองพาราณสีแล้ว อย่าลืมแวะมาทานปลาที่นี้บ้าง หากไม่อย่างนั้นแสดงว่า ยังมาไม่ถึงอินเดียนะเออ จะบอกให้.......

ป.ล. บางครั้งในโรงแรมต่างๆ ที่พาราณสีเขาก็เอาปลามาจากที่นี้แหละ จริงๆนะ

1 ความคิดเห็น: