แขก "พอ" เขาจึงพอเพียง

ปีนี้หากนับวันเดือนปีดูแล้ว ก็ย่างเข้าปีที่ 9 แล้ว ที่ตัวผู้เขียนได้มาใช้ชีวิตอยู่ ดินแดนภารตะ จนบางคนเริ่มทักว่า จะเป็นแขกไปแล้ว  เพราะหากทำอะไรซ้ำๆ มันจะทำให้เกิดความเคยชิน จนไม่รู้ตัว เกือบ 9 ปีแล้ว ที่ได้เอาลมหายใจมาทิ้งไว้ที่อินเดีย "เรียนจนผมหงอก" ก็เพิ่งมารู้หรือมาเห็นด้วยตัวเอง ก็เมื่อได้มาอยู่อินเดีย ว่าเรียนจนผมหงอกเป็นไง

                                                                                          
เคยมีคนพูดว่า หากอยู่ในสังคมไหนนานๆ เรามักจะถูกกลืนเข้าสังคมนั้น หรือเรียกว่า ถูกสังคมนั้นๆกลืน มีคนยกตัวอย่างว่า คนที่เรียนหรือจบจากเมืองนอกเมืองนามา เช่น จบจากยุโรป หรืออยู่ที่โน้นนานๆ นิสัยใจคอจะเหมือนพวกฝรั่ง อ้าว...ว ผมเรียนและอยู่ที่อินเดียมานาน ถ้าอย่างนั้น ผมก็คงเหมือนคนอินเดียไปแล้วใช่ไหมเนี่ย  ผมก็เคยมานั่งนึกนอนนึกอยู่ว่า ผมมาเรียนอินเดีย ผมได้นิสัยแขกอะไรบ้าง ที่พอจะเอาติดเนื้อติดตัวกลับไปเมืองไทย บางครั้งก็นึกออก บางครั้งก็นึกไม่ออก เพราะยังอยู่ในอาการเบลอๆ แต่สิ่งหนึ่งที่กลัวติดตัวไปอย่างมากๆ นั่นก็คือ ความมีประชาธิปไตยมากเกินไป ที่อินเดียนี้แหละครับ ประชาธิปไตยเต็มใบเลย อยากทำอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ แต่อย่าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จะขี้จะเยี่ยวข้างทาง หากไม่อายชาวบ้านชาวช่องหรืออายฟ้าดิน ก็ทำไปเถอะ อยากจะขี่จะขับรถสวนเลน อยากจะกดแตรตลอดเส้นทาง ก็กดไปเถอะหากมีแรงกด อยากจะเปิดไฟสูงตลอดเส้นทางก็เปิดไปเถอะ หากไม่กลัวหัวเทียนดับ จะขับรถปาดหน้าปาดหลัง ก็ขับไปเถอะ แต่อย่าไปชนรถหรือชนชาวบ้านเขา เท่านั้นพอ อยากกินอะไร จะทิ้งตรงไหน ก็ทิ้งไปเถอะ อยากจะร่วมประท้วงก็ไปเถอะ ไม่มีใครว่า แต่อย่าไปปิดสถานที่ราชการเขาเท่านั้นพอ อะไรจะอิสระเท่ากับอินเดียอีกแล้วครับท่าน ขนาดอังกฤษแม่แบบประชาธิปไตย ยังทนไม่ได้ ยังต้องหนี เพราะอยากขี้ตรงไหนก็ขี้ไง

อีกอย่างหนึ่งไม่รู้ว่าคนอื่นๆเป็นเหมือนผมหรือเปล่า นั้นก็คือกลายเป็นคนขี้ระแวง ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใครง่ายๆ เพราะที่อินเดียหาคนจริงใจยาก ระแวงตลอดเวลาว่า เอ้ย มันจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากเราหรือเปล่า มันจะมาโกงเราหรือเปล่า กลายเป็นว่า เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เหมือนเป็นคนโรคจิตชนิดหนึ่ง ขึ้นรถไฟก็ไม่อยากพูดคุยกับคนแปลกหน้าและหน้าแปลก ไม่กล้ารับอะไรกินจากคนแปลกหน้า เพราะกลัวโดนวางยา กลัวว่าหลังจากเราโดนวางยาแล้ว มันจะทำอะไรมิดีมิร้ายกับเราหรือเปล่า แค่คิดก็เสียวแล้ว สังคมแขก สอนให้เป็นคนระมัดระวัง หรือจะพูดให้ดูดีหน่อยก็คือ สอนให้รู้จักคน คนแบบไหนควรคบและไม่ควรคบ ปกติในชีวิตจริงก็ไม่ค่อยมีเพื่อนอยู่แล้ว ย่ิ่งมาเจอสังคมแบบนี้ พอๆอยู่บนเกาะร้างคนเดียวเลย คนดีๆก็มี  แต่คนดีๆเขามักจะไม่ค่อยมาหาเรา ส่วนมากจะเป็นพวกที่คอยจ้องแต่ผลประโยชน์จากเรา อย่างที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้แหละว่า เพราะอินเดียมีคนเยอะ ทุกคนต่างต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หากใครอ่อนแอ่ในสังคมมาก คนนั้นก็เหมือนปลาที่ตายและพร้อมจะไหลไปตามกระแสน้ำอยู่ตลอดเวลา ในสังคมแบบนี้ ทุกคนสามารถเป็นนักล่าและคนถูกล่าได้พอๆกัน หากเราเสียรู้ให้กับใครสักคนหนึ่ง เราคือเหยื่อ จากพ่อค้าแม่ค้า สังคมแบบนี้สอนผมให้กลายเป็นคนขี้ระแวง ตกลงจะดีใจหรือเสียใจดีเนี่ย

และที่สำคัญสอนเราให้รู้จักวางเฉยๆ หรือจะเรียกอย่างไรให้ถูก เขาเรียกว่าปล่อยวางหรือปลงกับชีวิตได้ง่าย บางครั้งกำลังทานอะไรอยู่ มีคนหามศพผ่านไปหน้าตาเฉย มีขอทานตัวมอมแมม เดินมาขอเงิน ขี้คนบ้าง ขี้วัวบ้าง ขี้แพะ สารพัดขี้ บนท้องถนน หากใครคอตื้น คงทานอะไรไม่ได้ ที่นี้เขาสอนให้เรารู้จักปล่อยวาง

                                                                                   

และสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการใช้ชีวิตหรือจากการสัมผัสวิถีชีวิตของแขกที่นี้ นั่นก็คือ รู้จักพอ จึงจะ "พอเพียง" บ้านหลังไม่ใหญ่มาก ต้องขยี้ตาดูหลายๆรอบ เพราะไม่มั่นใจว่า นั่นมันใช่บ้านหรือเปล่า แต่ โอ๊วแม่เจ้า อยู่กันไปได้อย่างไร ตั้ง 8-9 คน รวมทั้งแพะและควายไปด้วย แต่เขาอยู่กันได้ นอนดมเยี่ยวควายวัวและขี้แพะ ไปไหนไม่ไกลมากก็ปั่นจักรยานไป รถก็ไม่ต้องหรูหรามาก ขอแค่ไม่ให้ได้เดินก็พอแล้ว ครูอาจารย์บางท่าน เป็นถึง ศาสตราจารย์ ปั่นจักรยานมาสอน ขี่รถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ มาสอน ใส่รองเท้าแตะ เคี้ยวหมาก หากคนพวกนี้ไปเที่ยวบ้านเรา ก็คงเหมารวมว่าคงเป็นหนึ่งในบรรดาแขกทั้งหลาย ที่หลบหนีเข้ามาทำงานบ้านเราหรือมาขายถั่วหรือโรตีแน่ๆ เพราะดูสภาพแค่เปลือกภายนอกแล้ว บอกตามตรงว่า สีรับไม่ได้จริงๆ เพราะสังคมบ้านเรามักสอนเราหรือทำให้เรารู้ว่า คนที่จะมีความสุขได้ ต้องมีรถ มีบ้าน มีเสื้อผ้าสวยๆใส่ และที่สำคัญ ต้องมีหนี้ หากไม่มีหนี้ ก็ไม่มีหน้า มันเป็นคำพูดเสียดสีสังคม และเราท่านทั้งหลายก็ก้มหน้าก้มตา ยอมรับกันต่อไป บางคนประหยัดมาก ก็ถูกสังคมตราหน้าว่า ขี้เหนียว บ่อยครั้งที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสถึงก้นครัวของแขก เขาทำกับข้าวๆแบบพอเพียงจริงๆ ไม่ทำมาก
                                                                                    
บางบ้านรถที่ว่าหรูสุดหรูสำหรับเขาก็คือ Zuzuki Maruti คันไม่ใหญ่มาก แต่ก็ดีกว่าเดิน ผมเคยมองสังคมอินเดียแล้วมองย้อนกลับไปสังคมบ้านเรา เป็นถึง ศาตราจารย์ คณบดี ดร. จะทนได้ไหม หากไปสอนนักเรียน แล้วต้องมาปั่นจักรยานหรือขี่มอเตอร์ไซค์เก่าๆ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งถูกต้องที่ครูอาจารย์ควรทำ แต่เรากลับมองว่า ไม่สมฐานะ ไม่เหมาะ น่าอาย กลัวนักเรียนนักศึกษานินทา ฯลฯ นี้คือสิ่งที่ผมได้ค้นพบ สำหรับสังคมที่นี้ อินเดียเหมือนทองในห่อผ้าในกองขยะอีกทีหนึ่ง ในกองขยะมีสิ่งที่คนเป็นจำนวนมาก ทิ้งและรังเกลียด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งกลับนำสิ่งของจากกองขยะเหล่านั้น เอาไปขาย และตอนนี้ผมก็เริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าผม ผมเริ่มกลายเป็นคนเก็บขยะ

และอินเดียก็เป็นเหมือนกองขยะสำหรับคนไทยบางกลุ่มที่ไม่อยากเข้าใกล้ ครูอาจารย์บางคน ถึงแม้จะให้มาสัมมนาฟรี บางคนก็ไม่อยากจะมา อยากจะไปโซนยุโรปมากกว่า  สิ่งที่ยกอุปมาให้ฟัง ก็คงไม่เกินความจริงไปมากนัก จะมีสักกี่คนเชียวที่อยากจะมาอินเดีย บางคนหากไม่มีพระพุทธเจ้า หรือไม่มีพุทธสถาน หรือหากไม่มาเรียน จ้างให้มาก็ไม่มา

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า อย่างไรๆ คนอินเดีย เขาไม่รู้หรอกว่า เกิดเป็นคนไทยแล้วดีอย่างไร อย่างน้อยๆ ความจนในอินเดียมันคือกรรมพันธุ์ (วรรณะ) ที่คนอินเดียกลุ่มหนึ่งไปทำงานที่เมืองไทยและส่วนหนึ่งก็กลายเป็นคนไทยเชื่อสายอินเดียไปแล้วนั้น เขาก็บอกว่า คนไทยที่โชคดี ที่ความจนไม่ใช่กรรมพันธู์ (การศึกษาทำให้คนไทยเป็นนายคนได้) และคนอินเดียบางคน ก็เริ่มคิดหนัก เพราะสิ่งหนึ่งที่คนไทยมีนั่นก็คือ การเปรียบเทียบระหว่าง มี ไม่มี จน กับรวย มีหน้า ไม่มีหน้า สังคมไทยมีในสิ่งที่สังคมอินเดียไม่มี และสังคมอินเดียมีในสิ่งที่สังคมไทยไม่มี

คนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังโหยหา "ความพอเพียง" ทั้งที่ยังไม่รู้จักคำว่า "พอ" แต่ในขณะคนอินเดียกลุ่มหนึ่ง เขารู้จักคำว่า "พอ" เขาจึงพอเพียง

มนต์ขลังแห่งเมืองพาราณสี

ในบรรดาเมืองศักดิ์สิทธิ์หรือเมืองแสวงบุญของอินเดีย เมืองพาราณสีถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเมืองเหล่านั้น หากจะขุดคุ้ยเอาตำนานเมืองนี้มาคุยหรือสาธกให้ฟัง เห็นทีจะต้องเอาเสื่อเอาหมอนมานอนฟังกันเลย เพราะมันยาวมากๆ ด้วยความสามารถพิเศษของผม ผมจะเล่าให้ฟังแบบย่อๆ เมืองนี้มีประวัติมาช้านานก่อนสมัยพุทธกาล น่าจะ 3,000 กว่าปี คำว่า พาราณสี เป็นภาษาบาลี หากเป็นภาษาสันสกฤต อ่านว่า วาราณสี ในยุคอังกฤษปกครอง ฝรั่งตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เจริญปุระ เออไม่ใช่ ว่าบาณารัสหรือบาณาเรส (Banaras, Banares) คำว่า วาราณสี มาจากแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำวารุณะ และแม่น้ำอสี มาเชื่อมบรรจบพบกัน ก็เลยได้ชื่อว่า วาราณสี แม่น้ำทั้งสองสาย ปัจจุบันด๊ำดำและเหม็นด้วย ยิ่งกว่าคลองแสนแสบ คลองแสนแสบเห็นยังต้องอาย

                                                                                    
ประมาณปี 2546 ปีแรกที่ผมได้ย่างก้าวมาเป็นส่วนเกินของเมืองพาราณสี ปีนั้นเป็นปีพิเศษอย่างมาก คือฟ้าร้องลมแรงมากๆ แต่ฝนไม่ตก เหมือนเป็นการเกริ่นแสดงความดีใจ ของเจ้าของสถานที่ ว่านี้คือการต้อนรับบุคคลผู้มีบุญมาเยือน ปีนั้นแห้งแล้งมาก ฝนก็ไม่ค่อยตก อากาศก็ร้อนประมาณ 47 องศา ข้าวของก็แพง เป็นช่วงที่ใครๆก็ไม่อยากจะมา แต่ผมมา เพราะไม่มีคนบอก และลืมถามเทพธิดาพยากรณ์(อากาศ) ก่อนมา

ผมเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมาลงที่กัลกัลต้าหรืออีกอย่างหนึ่งที่เขานิยมเรียกกันก็คือ โกลกัลต้า ต้องเดินทางต่อด้วยรถไฟไปพาราณสีอีก 1 คืน กว่าจะมาถึงเมืองพาราณสี ทุลักทุเลพอสมควร แค่เห็นผู้คนที่โกลกัลต้าว่าเยอะแล้ว มาเห็นที่สถานีรถไฟพาราณสี คิดว่าบ้านนี้เมืองนี้ คนต้องโผล่มาจากถ่านหินแน่ๆ  เพราะหาคนขาวยากมากๆ คิดว่าทำไมคนมันเยอะอย่างนี้ ขณะรถไฟจอด เห็นกุลีหรือพวกแบกของโดยใช้หัว เดินมาถามว่า จะไปหอเสนใช่ไหม ผมก็ไม่ได้สนใจ เพราะก่อนจะมา แม่ได้สอนเอาไว้ตลอดว่า อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าและหน้าแปลก แต่ก็แปลกใจนิดๆว่าพวกนี้มันรู้ได้ไงว่าเราจะไปไหน

สักพักหนึ่งมีพวกหน้าม้า วิ่งกรูเข้ามา เหมือนเห็นเราเป็นอะไรสักอย่าง วิ่งเข้ามาถาม พร้อมเสนอราคาเช่ารถ "B.H.U. 270 รูปีๆๆๆๆๆๆๆ"

สามล้อหรือที่บ้านเราเรียกว่ารถตุ๊กๆ แต่ที่เชียงรายบ้านผมเค้าเรียกว่ารถลำบาก เพราะคำว่าตุ๊ก หมายถึงลำบาก (เช่นคำว่าตุ๊กกายตุ๊กใจ หมายถึงลำบากกายลำบากใจ) หากอ่านว่าตุ๊กๆ แปลว่าลำบากมาก แต่สำหรับสามล้อที่นี้ มันนั่งลำบากจริงๆนะ ทั้งลำบากกายและจมูก เพราะบางครั้ง สถานะการณ์มันสร้างคนให้เป็นฮีโร่ เบาะด้านหลังเต็ม ก็ต้องจำเป็นมานั่งข้างๆคนขับ (เบาะด้านหลังหากมีผู้หญิงขึ้น เขาจะให้ผู้หญิงนั่ง ส่วนผู้ชายต้องย้ายมานั่งข้างๆคนขับ) และลองนึกดูว่า ถ้าอากาศร้อนมากๆ แล้วคนขับไม่ชอบอาบน้ำ ปอดจะทำงานหนักขนาดไหน ปลายรูจมูกก็อยู่ห่างจักกะแร้คนขับแค่ปลายไม้ขีด บางทีขนรักแร้กับขนจมูกจะพันกันอยู่แล้ว
พวกนี้ยังวิ่งมารุมล้อม ตอนนั้นผมมีความรู้สึกเหมือนดาราเกาหลีคนหนึ่ง ชื่อ ซุก จีวร มีแฟนคลับห้อมล้อม ฝุ่นตลบ พร้อมตะโกนแหกปาก "B.H.U"

ผมคิดในใจว่า เอ้ย มันรู้ได้ไงฟะ ว่าเราจะไป B.H.U. หรือพวกนี้เป็นญาติกับเทพธิดาพยากรณ์ผู้รู้ล่วงหน้า แล้วมันก็เหมือนรู้อีกนะ ว่าเราคิดอะไร มันก็บอกว่าไม่รู้ได้ไงว่าจะไปไหน(ทำนองนั้น) เพราะเสือกเขียนเอาไว้ติดข้างกล่องเบียร์และมีเชือกฟางมัดติดเอาไว้ด้วยว่า B.H.U. หอเสน เออ...แล้วไป นึกว่าอ่านใจคนได้

อย่างที่ได้บอกเอาไว้ในตอนต้นรายการมิติลึกลับว่า จริงๆ หากจะพรรณาเมืองพาราณสีนี้ อย่างน้อยๆ ต้องมีประมาณ 5 ตอนครึ่ง เพราะมันยาว แต่ผมจะย่นย่อให้เหลือเรื่องที่ผมประทับใจและบ่งบอกถึงความเป็นเมืองพาราณสีให้ฟัง ว่ามันเมืองนี้มันมีเอกลักษณ์แบบใด เมื่อมาเที่ยวหรือมาอยู่แล้ว รู้เลยว่านี้มันคือเมืองพาราณสีจริงๆ ไม่มีเจือบ่นด้วยแสงสีเสียง อะแฮ้ม....พร้อมหรือยัง

                                                                                
1.บ้านเมืองโบราณ แผนผังบ้านเมืองก็แบบโบราณๆ ปัจจุบันนี้ขยายถนนก็ไม่ได้ คนก็เยอะขึ้นทุกวัน แต่ถนนเท่าเดิม บ้านผู้คนส่วนมากไม่มีหลังคา สโลแกนของเมืองพาราณสีก็คือ "เจริญในความเสื่อม" เจริญในด้านความเชื่อวัฒนธรรม แต่สภาพบ้านเรือนเสือมโทรมมากๆ

2.ผู้คนไม่มีระเบียบวินัย ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ บนท้องถนน คำว่า กฎหมายจราจร มีเอาไว้ในแค่ตำราจริงๆ ในภาคปฎิบัติ ไม่มีใครทำกันเลย บางคนขี่รถส่วนทางมาดื้อเลยๆ พวกที่เดินอยู่สองข้างทางก็เดินเรียงหน้ากระดานประมาณ 6-8 คน บางคนก็ยืนคุยกัน เกือบกลางถนน

3.เมืองพาราณสีก็เป็นหนึ่งใน 4 ตำบลที่มีความสำคัญกับพุทธประวัติซึ่งเรียกว่า สารนาถ เป็นที่มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ครบครั้งแรกในโลก และเป็นที่ประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก และเป็นที่ประดิษฐานตราสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย คือ หัวสิงห์พระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ 5 รูปี สำหรับเข้าไปยลโฉม

4.พาราณสีมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่าคงคา และเป็นแม่น้ำที่ชาวฮินดูต่างก็ปรารถนาอยากจะมาอาบมาดื่มหรือท้ายที่สุดของชีวิตก็อยากให้ร่างของตัวเองมาเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

          ขยะที่เกิดจากศรัทธาของชาวบ้านนำมาสักการะบูชาแม่น้ำคงคา

5.ยังคงเป็นเมืองที่ยังคงชื่อโบราณเอาไว้จวบกระทั่งปัจจุบันนี้นั่นก็คือพาราณสีหรือวาราณสี

จริงๆเรื่องที่ผมอยากจะเล่า ไม่ใช่เรื่องเหล่านี้หรอก แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น เคยได้ยินคำพูดหนึ่ง ที่เป็นสโลแกนของคนที่มาพาราณสี นั่นก็คือ "หากมาพาราณสีแล้วไม่ได้กินปลาที่แม่น้ำคงคา แสดงว่ายังมาไม่ถึงพาราณสีอย่างแท้จริง" ไหมครับ โอ๊วแม่เจ้า....แค่ได้ฟังก็สลดสยองขนหน้าแข้งลุกแล้ว

8 ปีกับการสูญเสียความบริสุทธิ์ ในด้านหน้าตา (คือมาอยู่ตั้งแต่หน้าตาเป็นละอ่อน) ให้กับเมืองพาราณสี ผมไม่รู้ว่าผมกินปลาที่เอามาจากแม่น้ำคงคาไปกี่กิโลแล้ว ลองคิดดูว่า ศพที่ตายๆไป เขาไม่ได้เผาทุกศพนะ บางศพก็เอาโยนลงน้ำ ยิ่งศพคนจนๆเอาผ้าขาวห่อก็โยนลงน้ำ เป็นภักษาของปลาและสัตว์น้ำบางชนิด สังเกตุง่ายๆ เวลาแม่น้ำคงคาลดในช่วงปลายเดือนตุลาหรือต้นเดือนพฤศจิกา โครงกระดูกอีกฝากหนึ่งเต็มไปหมด อนิจจา...หน้าร้อนนอนห่มผ้า จะไม่มีบ้างเชียวหรือที่ปลาจะไม่กินศพเหล่านั้น

                                                                               

กาลครั้งหนึ่ง สอง สาม นานมาแล้ว เคยมีรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าไปซื้อปลาที่ตลาดปลา (เรียกว่าโกโดลเลีย) เนื่องจากธรรมชาติทางน้ำของอินเดียยังสมบูรณ์มาก ปลาแต่ละตัว ตัวใหญ่ๆทั้งนั้นเลย Believe it or not จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ บางตัวเท่ากับเด็กเลยนะครับ เด็กอายุ 5 ขวบ และเป็นโรคขาดสารอาหาร แขกฝ่าท้องปลาออกมา พบศพครับ ศพของปลาตัวเล็กๆที่ปลาตัวใหญ่ๆกินมันเข้าไป

                                                                                   

เขาบอกว่า ถ้าจะทานปลาที่แม่น้ำคงคาให้อร่อยต้องเอาไปทำเป็นปลาชูฉิครับ ถึงจะอร่อย จริงๆนะ หากมาเที่ยวที่เมืองพาราณสีแล้ว อย่าลืมแวะมาทานปลาที่นี้บ้าง หากไม่อย่างนั้นแสดงว่า ยังมาไม่ถึงอินเดียนะเออ จะบอกให้.......

ป.ล. บางครั้งในโรงแรมต่างๆ ที่พาราณสีเขาก็เอาปลามาจากที่นี้แหละ จริงๆนะ

ทีปะวลี ลอยกระทงแขก

                                                                                   
คืนแห่งเดือนมืดมิด อมาวาสยา ในวันที่ 15 ของเดือนการติก (ตุลาคม-พฤศจิกายน) มีเทศกาลหนึ่งชื่อ ทิวาลี (Diwali) หรือ ทีปะวาลี(Deepavali)ในเมืองไทยจะตรงกับวันสุดท้ายที่สิ้นสุดวันกฐิน
                                                                                                          
คำว่า ทิวาลี นี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นชื่อที่เรียกย่อมาจาก คำว่า ทีปะวลี หมายถึง ตะเกียงที่ประดับเป็นสาย ในแต่ละบ้านจะจุดประทีปที่ทำมาจากดินเผาไส้ประทีบ ทำมาจากสำลีฟั่นและจุดโดยน้ำมันคัสตาส หรือน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง จะไม่ใช้น้ำมันก๊าชหรือน้ำมันเชื่อเพลิงแต่อย่างใด  เนื่องจากว่าเป็นคำคืนแห่งเดือนมืด ที่มืดก็คงเป็นเพราะไฟฟ้าดับด้วย เพราะที่เมืองพาราณสีไฟดับบ่อยๆ หรือเป็นช่วงต้นๆ ของการต้อนรับฤดูหนาว ท้องฟ้ามืดมิด บวกกับไฟฟ้าดับ

                                                         

ชาวฮินดูเขามีความเชื่อว่าพระลักษมีจะมาสถิตอยู่ในตะเกียงน้ำมันนั้น ทั้งนี้จะวางประทีบไว้รอบบ้านหรือร้าน เพื่อเป็นการบูชาแด่พระลักษมีผู้เป็นพระชายาของพระวิษณุ ที่จะมาเสด็จเยือนแต่ละบ้าน นอกจากจะบูชาด้วยประทีปแล้ว ยังมีเครื่องบูชาอันประกอบด้วยขนมปังกรอบหรือหากไม่สะดวกหาที่ไม่กรอบก็ได้และขนมต่างๆ (ที่ยังไม่หมดอายุ) อีกนัยหนึ่งเป็นการต้อนรับการกลับเมืองอโยธยาของพระราม พระลักษณ์ และนางสีดาหลังจากรบกับราวัลย์ชนะจากเทศกาล ดุสเสฮรา และได้กลับมาจากเมืองลงกา ปัจจุบันนี้คาดว่าน่าจะเป็นประเทศศรีลังคา (ออกเสียงแบบฝรั่ง) หากจบ กศน.ที่วัดโคก ออกเสียงเป็นศรีลังกาาาาาา
                                                       
เนื่องจากเทศกาลนี้คล้ายๆ กับลอยกระทงบ้านเราเป๊ะเลย ประชาชนแขกเขาจะจุดประทีบเป็นการต้อนรับ ทุกที่ในหมู่บ้านและชุมชนจะสว่างไสวไปด้วยแสงตะเกียง พวกเด็กๆจะออกมาเล่นประทัดและจุดดอกไม้ไฟตลอดทั้งคืนเป็นการต้อนรับเทพเจ้าที่มาเยี่ยมเยือนบ้านเรือนของตน

                                                          
โดยเฉพาะที่ริมฝั่งคงคา จะมีมหรสพต่างๆ เช่นพิธีบูชาแม่น้ำคงคา ไหลเรือไฟ (มีเป็นบางปี) บางปีคนเยอะมากๆๆๆๆ บางปีคนก็มีบ้าง สรุปแล้วก็คือคล้ายๆเป็นงานลอยกระทง ส่วนกระทงของเขาก็เป็นกระทงเล็กๆ ทำด้วยใบไม้ และมีดอกดาวเรืองวางอยู่ด้านในสองหรือสามดอก และจะมีพวกเด็กที่ขายกระทง จะมาตามตื้อ พูดภาษาอังกฤษคล่องเสียด้วย ตะโกนแหกปาก 2 อัน 10 รูปี บางคนก็มาสะกิดอยู่ข้างๆ 

ผมเคยซื้อครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว เกือบจำไม่ได้ 2 อัน 10 รูปีนี้แหละ ต่อราคาเด็ก ที่ต่อก็ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะสงสารเด็ก 2 อัน 7 รูปีได้ไหม เด็กบอกไม่ได้ เพราะค่าครองชีพมันแพง เราก็ทำท่าจะเดินหนี ด้วยความที่เขาผ่านโลกมาน้อย เห็นเราทำท่าไม่เอาจริงๆ ก็เลยลดให้ 2 อัน 7 รูปี ยื่นแบงค์ 10 รูปีให้ เด็กบอกว่า ไม่มีเงินทอน ทำไงดีหล่ะ ในเมื่อไม่มีเงินทอน 3 รูปี ช่วยชีวิตเด็กขนรูจมูกดำๆคนหนึ่ง ช่างเถอะ ตกลงก็ไม่ได้ค่าลงค่าลดพอดี 2 อัน 5 รูปี เพื่อนที่ไปด้วยกันก็ยื่นเงินให้ เออจริงๆ ผมไม่ได้ซื้อเองหรอก เพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นคนซื้อ                                        
                                                           

---ผ่านไปสักพักหนึ่งไม่ถึง 2 นาที เด็กคนนั้น มันก็เดินไปเดินมา และล้วงเอากระเป๋าที่ซ่อนเอาไว้ ล้วงออกมา โอ้โห้ มีแต่ตังค์เหรียญ ก็ไหนบอกว่าไม่มีเงินทอน แสบจริงๆ......และยิ่งไปกว่านั้น ไม่รู้มันคงจะเบลอๆทำงานหนักหรือเมายากันยุงก็ไม่รู้ มันคงจะจำลูกค้าไม่ได้ ดันมาถามแลกเงินกับเราอีก อยากจะจูงไปที่หลับหูหลับตาผู้คน แล้วจับมันสระผมจริงๆ เพราะดูแล้ว มันคงไม่ได้อาบน้ำมาหลายสัปดาห์ 

                                                        
เป็นที่น่าเสียดาย ช่วงหลังๆหลายปีมานี้ งานลอยกระทงแขก ผมไม่ค่อยได้ไปดู  นอนอยู่ในห้องสบายใจกว่า...หากไปดูวันแรก คนก็เยอะ ฝุ่นก็เยอะ ก็เลยอดทนนอนรอ ไปดูวันสุดท้ายแทน
                                                         
                                                    

กุมภเมลาเทศกาลแห่งการชำระบาป

ที่อินเดียเขามีเทศกาลหนึ่ง เรียกว่า กุมภเมลา กุมภ หมายถึง หม้อ เมลา แปลว่า การมาประชุมร่วมกัน ในพิธีกุมภเมลานี้ เดิมทีจัดกันเพียงที่เดียวคือที่สังคัง เอ้ย สังคัม แต่ต่อมาท่านศังกราจารย์ (พ.ศ.1331-1363) ได้ขยายพิธีกุมภเมลาออกไปอีก 3 ที่ รวมเป็น 4 ที่ด้วยกัน  เมืองแรกได้แก่สังคัม เมืองอัลลาหบาด ผมมักจะเรียกว่าเมืองอันละห้าบาท คำว่า อัลลาหบาด เป็นภาษาอูรดู แปลว่า เมืองแห่งพระอัลเลาะห์ บาดแปลว่า เมือง ส่วน อัลลาห แปลว่า พระอัลเลาะห์
                                                           
จริงๆ ผมมีเรื่องจะบอกอีกอย่างหนึ่ง ผมก็แปลมั่่วๆ เอานะครับ ไม่รู้ว่า ใช่หรือเปลา เดี๋ยวจะรอคำตอบจากหมอกฤษ์ คอนเฟริ์มว่า ถูกต้องหรือเปล่า เคราะห์กรรมของอินเดียอย่างหนึ่ง ตกเป็นเมืองขึ้นของหลายๆ ชาติ เช่นมุสลิมเติร์ก อังกฤษ ชาติไหนมาปกครอง ก็มักจะตั้งชื่อให้ อย่างอังกฤษปกครองก็มาเปลี่ยนเมืองพาราณสีเป็น Banaras ดังนั้นภาษาอูรดู ในอินเดียจึงมีมาก ส่วนเมืองที่สองเมือง นาสิก ทำกันที่ แม่น้ำโคธาวรี โคธาภาษาบาลี แปลว่า เหี้ย หรือตัวเงินตัวทองนะครับ (จริงๆ) เมืองอุชเชน ที่แม่น้ำศิประ และที่สุดท้ายเมืองหริทวาร์ด ซึ่งแต่ละที่นั้น 3 ปีถึงจะจัดครั้งหนึ่ง รวมกันเป็น 12 ปี ที่จะเวียนมาเมืองอัลลาหบาด อีกรอบหนึ่งจะเรียกว่า "มหากุมภเมลา" ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้ว มหา แปลว่า ใหญ่ คับ จะใหญ่ขนาดไหนนั้น ก็ประมาณว่า คนมาร่วมงานหลายแสน ฝั่งแม่น้ำคับคั่งไปด้วยมวลหมู่มหาประชาชนแขก ไม่รู้ลูกเต้าเหล่าใครเต็มไปหมด รถต้องจอดด้านนอก ต้องเดินเข้าไปร่วมงานประมาณ 5-7 กิโล ผมเคยไปร่วมงานกับเขาครั้งหนึ่ง เหมารถกันไป เพราะเมืองนี้อยู่ห่างจากเมืองที่ผมอยู่ไม่ถึง 150 กิโล  ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง พวกเราก็เลยออกเงินกันเหมารถ ไปดูคนอาบน้ำ อยู่ที่เมืองไทยไม่เคยเห็นคนอาบน้ำและคนเยอะ ก็เลยต้องเสียเงินเพื่อไปดูคนอาบน้ำโดยเฉพาะ
                            ภาพจากมุมกว้าง ดูผู้คนในงานเสียก่อน
คนจะเยอะขนาดไหน งานกาชาดที่ส่วนอัมพร ต้องเรียกว่าหลานๆ เลยหล่ะครับ หากใครคิดจะพาลูกหลานเหลนปู่ย่าตายายไป เขียนชื่อเบอร์โทร มือถือเอาห้อยคอไว้เลย เผื่อหลงพรากจากกัน งานนี้ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายส้มตำไก่ย่าง น้ำหวานอะไรทำนองนี้ข้างทางนะครับ คนล้วนๆ ท่ามกลางดงฝุ่น

ที่สังคม เมืองอัลลาหบาดนั้น ชาวฮินดูมีความเชื่อว่า  เป็นที่บรรจบของแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ คงคา ยมุนา และสรัสวดี แต่โดยสายตานั้นเราสามารถมองเห็นแม่น้ำแค่ 2 สายแรกเท่านั้น  แต่แม่น้ำสรัสวดีไหลมาจากใต้ดิน และมาบรรจบกัน ณ ที่ตรงนั้น ส่วนทางคติของไทย สถานที่แห่งนี้เราเรียกว่า จุฬาตรีคูณ (ไปหาโหลดฟังเพลงนี้ได้ตามอินเตอร์เน็ท)

                                 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ คนจะเยอะมาก
เหตุใดสถานที่สี่แห่งที่ได้กล่าวมาจึงมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในตำนานฮินดูตำนานหนึ่งกล่าวว่า เมื่อคราวที่เหล่าเทวดาและอสูร ได้ทำพิธีกวนเกษียรสมุทรนั้นได้มีของวิเศษ 8 สิ่งเกิดขึ้นบนโลก และสิ่งสุดท้ายที่เกิดคือ หมอวิเศษชื่อธันวันรี ได้ทูนหม้อน้ำอมตะ (จริงเขาเรียกว่า อมฤต)ขึ้นมา และเกิดการแย่งชิงความเป็นเจ้ายุทธภพกัน ระหว่างเทวดาและพรรคมาร จนทำให้น้ำอมฤตนั้นหกลงมาบนโลกมนุษย์ ถึง 4 ที่ด้วยกัน แต่ภายหลังมาพระสังกราจารย์ได้ไปสืบเสะหาตามคัมภีร์ต่างๆ จนพบที่เหล่านั้น อันได้แก่ 4 แห่ง สี่เมือง ที่ได้กล่าวไปแล้ว ข้างต้น

ในพิธีกุมภเมลานี้ จะมีนักบวชของฮินดูนิกายต่างๆ จากทุกสารทิศ และผู้แสวงบุญมารวมกันเป็นจำนวนมาก หลักใหญ่ใจความของงานนี้ คือการมาอาบน้ำของนักบวชต่างๆ ซึ่งการมาอาบน้ำจะเป็นไปตามลำดับของนักบวชนิกายต่างๆ เริ่มจากนักบวชเปลือย นักบวชนุ่งผ้าและรวมไปถึงผู้ที่มีจิตศรัทธา ที่เสียเงินเสียทองจากรัฐอื่น เดินทางมาเพื่ออาบน้ำ

                                                          
เพราะแต่ละคนมีความเชื่อว่า การได้มาชำระอาบน้ำที่นี้ เขาได้ลอยบาปที่ได้กระทำมา อันตรธาน หายไปกับแม่น้ำแล้ว งานจะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราและต้นเดือนกุมภา ใครสนใจอยากจะมาลอยบาปหรือล้างบาป แนะนำให้เอาผงซักฟอก สบู่มาด้วยนะครับ

แบงค์และสตางค์แขก

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้อง วันนี้ขอพูดเรื่องเงินๆทองๆ ของอินเดียกันหน่อย เงินอินเดีย เขาเรียกว่า รูปี ไม่ใช่รูเดือนนะครับ  ค่าเงินรูปี เมื่อเทียบกับ เงินบาทแล้ว อัตราการแลกเปลี่ยนไม่คงที่ บางครั้ง 100 บาท (อ่านว่า หนึ่งร้อย บาท) ก็แลกเงินรูปีได้ 130 บาทบ้าง 140 บาท บ้าง จำนวนไม่แน่นอน ดังนั้น หากใครคิดจะมาอินเดีย ควรจะแลกเป็นเงินดอลล์ล่าร์มาดีกว่านะครับ อัตราแลกเปลี่ยนมาตฐานกว่า เงินไทย หรือแลกเป็นเงินยูโรหรือปอนด์มาเลย ส่วนการแลกเงินก็ควรแลกกับบุคคลที่ควรเชื่อเถือได้ เพราะว่า หากไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะได้เงินปลอมมานอนกอดเอาไว้ ที่อินเดีย แขกเขากลัวมากนะครับ กับเงินปลอม เวลาไปซื้อของ แขกส่วนมากจะเอาเงินส่องแดดดู หรือไม่อย่างนั้นก็จะส่องดู ลายน้ำ หากเป็นไปได้ควรแลกเป็นเงินขนาดกลาง เช่น 500 รูปี 100 รูปี ดีกว่าจะแลกเป็นเงิน 1000 รูปี เพราะจับจ่ายซื้อของก็หาแลกลำบาก คือที่บอกว่าแลกลำบาก คือเจ้าของร้านขนาดกลางหรือร้านโชว์ห่วย มันหาแลกลำบาก แล้วคนที่จะทรมานนั่นก็คือเรา ที่ต้องรอ....

วันนี้เรามาทำความรู้จักเงินแขกกันดีกว่า ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร ดีกว่านะครับ

1. 1,000 รูปี


2.ลักษณะการดูแบงค์ 1000 ปลอมหรือไม่ ดูได้จาก


3.แบงค์ 500 รูปี


ด้านหลังของแบงค์



หรือจะสังเกตุได้จากลักษณะโดยทั่วไปของแบงค์

4.แบงค์ 100 รูปี



แบงค์ 100 อีกแบบหนึ่ง





5.แบงค์ 50 รูปี


อีกแบบหนึ่ง



6.แบงค์ 20 รูปี


อีกแบบหนึ่ง


7.แบงค์ 10 รูปี


8.แบงค์ 5 รูปี
9. เหรียญ 5 รูปี



10. เหรียญ 2 รูปี





และสุดท้ายที่จะลืมเสียมิได้นั่นก็คือ 1 รูปีครับ!



 นี่คือโฉมหน้า ของสตางค์หรือแบงค์ของแขกเขานะครับ อันที่จริง หากมองลึกๆลงไปในแบงค์ เราจะเห็นปรัชญาของคนอินเดียมากมาย ที่ปรากฎตามแบงค์นะครับ อย่างน้อยๆ สิ่งเราเห็นนั่นก็คือ รูปของท่านมหาตมะ คานธี เอกบุรุษ ผู้ต่อสู้ด้วยอหิงสา เพื่อกอบกู้เอกราชจากอังกฤษ

สำหรับวันนี้ หมดเวลา พบกันใหม่คราวหน้า ทาง surarin81.blogspot.com สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ ฝึกเอาไว้อีกหน่อย อาจจะได้เป็นนักอ่านข่าว (ลือ)

เรียนอินเดีย...มีดีอย่างไร

                                                                                   
มีผู้ปกครองจำนวนมากเลยทีเดียว ที่กำลังกังวลว่า จะหาที่เรียนให้กับบุตรหลานอย่างไรดี โดยเฉพาะในต่างประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่ต้องไกลจากเมืองไทยมากนัก หรืออย่างน้อยๆ ก็ขอให้ได้พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง และที่สำคัญคือไม่แพงด้วย

ปัจจุบันยอมรับว่า มีคนไทยเป็นจำนวนมาก ตบเท้าเข้ามาเรียนยังประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในชั้นมัธยม ปริญญาตรี โทและเอก แต่ในชั้นที่ผู้ปกครองกังวลใจมากที่สุดนั่นก็คือ มัธยม ถือว่ายังเด็กมากนัก ในการที่จะปล่อยให้บุตรหลาน ต้องมาผจญกับโลกภายนอกอันโหดร้าย โดยเฉพาะอินเดียด้วยแล้ว ...ถือว่าผู้ปกครองท่านนั้น กล้าหาญชาญชัยมาก ที่ปล่อยให้บุตรหลานอยู่ท่ามกลางดงแขก ในประเทศที่คนไทยหลายๆ คน ไม่อยากมา จริงๆอินเดียก็ไม่ได้โหดร้ายไปเสียทุกเรื่อง บางเรื่องเขาก็มีส่วนดีบ้าง อย่างเช่น ในด้านการศึกษา อินเดียเขาไม่ได้มองการศึกษาเป็นเชิงธุรกิจ จริงอยู่ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ ที่เขาให้เรียนฟรีกันหรอก มันก็ต้องเสียค่าเทอมหรือค่าใช้จ่ายบ้าง แต่เชื่อเถอะครับ การศึกษาคือการลงทุนก็จริง แต่สำหรับอินเดีย การศึกษาไม่ใช่ธุรกิจ เรื่องพวกนี้มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง ว่าเราจะมองด้านไหน จริงๆ มองด้านไหนมันก็ถูก มันขึ้นอยู่กับมุมมองของคนมากกว่า

สิทธิพิเศษที่เด็กไทยส่วนมากจะได้รับ เมื่อมาเรียนประเทศอินเดียก็คือ

1.มีเวลาให้กับการศึกษาเต็มที่ อย่าไปคิดจะหางงหางานที่ไหนทำหรอก มุ่งการศึกษาอย่างเดียว จริงๆเด็กไทยที่มาเรียนที่อินเดีย ส่วนน้อยมากๆๆ หรือจะคิดแทบเป็นเปอร์เซนต์ไม่ได้เลย ที่ต้องมาหางานทำที่อินเดีย เพราะประชากรอินเดียเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นงานจึงหายากมากๆ

2.ได้เรียนภาษาอังกฤษสำเนียงแขก ภาษาอังกฤษสำเนียงแขก เป็นภาษาอังกฤษระดับต้นๆ เลยนะครับ ที่ฟังยาก หากใครฟังรู้เรื่อง แสดงว่าไม่ธรรมดา แต่ก็ใช่ว่าจะได้หาฟังกันได้ง่ายๆ บางคนก็ไปดูถูกแขกว่า มันก็คงภาษาอังกฤษแขกทั้งหมด แขกบางคนที่เขาจบจากเมืองนอกเมืองนามาก็มี แขกบางคนภาษาอังกฤษค่อนข้างชัดเจนก็มี มันก็ไม่พ้นคล้ายๆ คนไทยอีกนั่นแหละ ถือว่า อย่างน้อยๆ ก็ได้มาเรียนยังประเทศที่คนส่วนใหญ่เขาพูดภาษาอังกฤษได้

                                                                                
3.หากใครกำลังมองประเทศที่เป็นเอกในด้านไอที อินเดียนี้แหละครับ เป็นคำตอบที่ถูกต้องอันดับต้นๆ ในเอเชีย ไม่มีใครไม่รู้จักบังกาลอร์ ในด้านการเขียน Hardware Software ยอมรับว่าเขาเก่งจริงๆ ข้อมูลใน Time of India คนอินเดียทำงานที่ IBM คิดเป็น % แล้ว เกือบ 32 % นะครับ ทำงานที่ Microsoft 34 % ทำงานอยู่องค์กรนาซ่า 12 % ทำงานอยู่องค์กรอนามัยโลก 28 % คนอินเดียเขาก็เจ๋งเหมือนกันนะ ขอนอกประเด็นนิดหนึ่ง จริงๆ เรื่องนี้ รัฐบาลอินเดียเขาก็ปวดกบาลเหมือนกันนะครับ ในเรื่องสมองไหล นั่นก็คือ อเมริกาดูดเอาแต่พวกหัวกระทิของคนอินเดียไปทำงานให้ประเทศตัวเอง โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพียงแค่หยิบยื่น Green Card เป็นแม่เหล็กให้คนอินเดียที่เขา อยากหนีออกประเทศตัวเอง ที่มันวุ่นวาย ไปยังประเทศที่สอง ที่สาม ที่มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ก็เหมือนกัน บางบริษัท เขาจะเอาป้ายติดประกาศเอาไว้ที่หน้าคณะ สมัครคนที่เก่งๆ จริงๆ ไปทำงานต่างประเทศ รัฐบาลอินเดีย ผลิตคนเหล่านี้ออกมา ต้องเสียงบประมาณไม่รู้เท่าไหร่ และพวกเก่งๆ เหล่านี้ ส่วนมากเขามักจะได้ทุนรัฐบาลเสียด้วยสิ ดังนั้น ไอที จึงเป็นยี่ห้อ ของอินเดียไปแล้ว

                                                                                   

4.อินเดียกับไทยไม่ห่างไกลกันมาก ค่าเครื่องไปมาก็ไม่แพงมาก เวลาในการเดินทางก็ไม่ไกลมาก

5.ได้มาเรียนยังประเทศที่มีต้นกำเนิดวัฒนธรรมและศาสนาอันเก่าแก่ ปัจจุบันในเอเชียประเทศที่มีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่สุดมีอยู่ 2 ประเทศ นั่นก็คือ อินเดีย และ จีน อินเดียเขามีสินค้าประเทศหนึ่ง ที่เขาส่งออกไปยังนานาประเทศ และมีปีหนึ่ง นำเงินตราเข้ามาสู่ประเทศเขาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นั่นก็คือ ศาสนา หากเปรียบเป็นพ่อค้าแม่ค้า อินเดีย นี่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย กวักมือเอาสตางค์อย่างเดียว นางกวักแทบไม่ต้องใช้ โดยเฉพาะพุทธศาสนาหรือพุทธสถาน ที่ปีหนึ่งๆ ชาวพุทธทั่วโลกเขาเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน นำเม็ดเงินไปถมอินเดียปีหนึ่งไม่รู้กี่ล้านเหริยญ

                                                                                  
ลองคิดเล่นๆ ดูนะครับ อินเดียประเทศเดียว มี พุทธศาสนา ฮินดู หรือเรียกว่าพราหมณ์ ศาสนาเชน ซิกส์ และโอโช ประเทศเดียว แต่มีศาสนาต่างๆ มากมายเกิดขึ้นเฉพาะในอินเดียประเทศเดียว นี่ยังไม่รวมเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆมากมาย เหมือนพวกเจ้าเข้าทรงอะไรทำนองนั้น อีกเพียบ ดังนั้นอินเดียจึงเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่เหมาะหรือควรค่าแก่การมาเรียนปรัชญาและศาสนา ต่อให้คุณเรียนปรัชญาอินเดียที่เมืองไทย ก็ไม่เหมือนได้มาเรียนที่อินเดีย มีความรู้ต่างๆมากมาย ที่อยู่นอกห้องเรียน ไม่ใช่เรียนแต่ในเฉพาะตำราอย่างเดียว

                                                                                    

ครับ! นี้คือสิทธิพิเศษสำหรับคนที่มาเรียนอินเดีย ที่ไปหาเรียนที่อื่นๆ ไม่ได้ และท้ายที่สุด อยากบอกว่า แขกไม่ใช่พระเจ้านะครับ ที่จะทำให้ลูกหลานของท่าน ประสบความสำเร็จในการศึกษาทุกๆคน แต่อินเดียคือครูชั้นยอดจริงๆ

นมัสเตอินเดีย:ปัญหาของนักเรียนไทยในอินเดีย

ในบทนี้ผมขอพูดถึงปัญหาของนักเรียนไทย ที่มักจะประสบปัญหาเวลามาเรียนที่อินเดีย ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาพิสดารพันลึกอะไรมากมาย ที่จำเป็นต้องใช้ เครื่องคิดเลข หรือตัวช่วย  มาพินิจวิเคราะห์ให้ปวดกบาลเล่น หลับตาข้างเดียว ก็มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ได้ ทุกมหาวิทยาลัยที่มีคนไทยเรียน  จะมีแตกต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อย
                                                                          

ประการแรก ผมให้เครดิตในเรื่องปัญหาภาษาอังกฤษ เป็นไงหล่ะ เวลาเรียนก็ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ครูสอนก็ไม่ตั้งใจสอน เวลาสอนก็งั้นๆ บางทีเห็นเราเป็นหัวหลักหัวตอ จะสอนให้รู้เรื่องก็ได้ แต่ยังไม่สอน ต้องไปเรียนพิเศษกับครูก่อน ครูถึงจะสอนให้เข้าใจ พอถึงเวลามาเรียนต่อต่างประเทศ ถึงได้รู้สัจธรรม ว่าแค่ภาษาไทยไม่พอยาไส้จริงๆ ถึงแม้บางคนจะโชคร้ายเรียนยังมหาวิทยาลัยที่เขาบรรยายเป็นภาษาฮินดีหรือภาษาประจำรัฐของเขา แต่เวลาคุณจะสอบต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ มันแย่ตรงนี้แหละ เรื่องภาษาอังกฤษจึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กนักเรียนทุกๆคน ที่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยแข็งแรง ผมเคยถามคนไทยหลายๆคนที่มาเรียนอินเดียว่า อะไรที่ทำให้ลำบากใจที่สุด ครับ! เขาพูดเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็คือทางบ้านส่งเงินมาให้ไม่ทันใช้ เออ...อ. อ่อนภาษาอังกฤษครับ

อยากจะให้หลายๆท่าน ที่กำลังคิดอยากจะมาเรียนต่อที่อินเดีย ฝึกปรือภาษาอังกฤษเอาไว้ ถึงแม้อินเดียจะสกปรกขนาดไหน ขอทานเยอะขนาดไหน แต่เชื่อได้เลยครับ คนชั้นกลางของเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าชนชั้นกลางบ้านเรา หากใครเป็นชาติไทยนิยมคิดว่าคนไทยดีกว่าแน่นอนและคิดว่าผมพูดผิด ก็ต้องขออภัยด้วย เพราะที่สัมผัสมา คนอินเดียส่วนมากที่จบปริญญาตรีหรือโท เขาเก่งภาษาอังกฤษพอควร เมื่อเทียบกับบ้านเราบางคนจบปริญญาโทก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

เมื่อเราพูดภาษาฮินดีไม่ได้ ดังนั้นจึงมีภาษาเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยในอินเดียได้นั่นก็คือ ภาษาอังกฤษ ในอินเดียมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เช่นคนไทยที่เรียนภาคใต้ บางครั้งเขาก็ใช้ภาษาทมิฬ นาดูสอน ภาคเหนือมหาวิทยาลัยปัญจาบ ใช้ภาษาปัญจาบี ภาคเหนือลงมาอีกมหาวิทยาลัยพาราณสี ใช้ฮินดี บางห้องมีนักศึกษาต่างชาติไม่กี่คน ครูก็จะมองเราเหมือนเป็นสุญญากาศ จะหลับหูหลับตาสอนเป็นภาษาของตัวเอง แต่ตัวเราเองต้องไปหาข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเอามาอ่าน สรุปแล้ว แมร่งกูมาทำเชี้ยอะไรในห้องวะเนี่ย

ครับ! หากใครเรียนจบรามคำแหงมา จะช่วยพัฒนาตัวเองได้มาก เพราะระบบการเรียนแบบในอินเดีย ต้องศึกษาด้วยตนเองให้มาก ต้องอ่านและแสวงหาความรู้ด้วยตนเองให้เยอะ เด็กไทยควรทำการบ้านอย่างหนัก เทียบกับการเรียนของไทยที่เรียนเป็นเรื่องๆ มีรูปแบบออกข้อสอบที่คาดเดาได้ แต่ในอินเดียเราคาดเดาได้ยาก เราต้องรู้ให้ครอบคลุมทั้งเนื้อหาในหลักสูตรให้มากที่สุด แม้บางวิชาผู้สอนจะสอนไม่ครบแต่ออกข้อสอบครบถ้วน ดังนั้นพวกเราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ฝึกเขียนอ่านให้เยอะ และต้องรู้จักการเก็งข้อสอบด้วย

ส่วนพวกเจ้าหน้าที่ต่างๆ เวลาเราไปติดต่อประสานงานอะไรสักอย่าง เราพูดเป็นภาษาอังกฤษ แมร่งมันตอบเป็นภาษาฮินดี หรือพูดอะไรก็ไม่รู้ของมัน ซึ่งมันมีผลทำให้เราไม่เข้าใจที่มันบอก ประมาณว่ามรึงจะฟังรู้เรื่องหรือไม่ก็ตามใจ แต่ตูจะพอใจบอกไปอย่างนี้ ไม่รู้ว่าที่รัฐอื่นมีหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่ที่ผมเรียน มันมีจริงๆ กินหมากไปด้วย พูดภาษาอังกฤษไปด้วย แค่ลำพังมรึงไม่กินหมาก ตูก็แทบจะฟังไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว นี่ดันทะลึ่งกินหมากเข้าไปอีก อยากตบกบาลให้ฟันผุหักสักสามซี่ (เยอะเกินไปหรือเปล่าตั้งสามซี่)

จริงๆครับ หากเรื่องที่ผมพูดมา ไม่เป็นความจริงหรือไม่มีมูลของความจริงเลย ขอให้ส้วมข้างๆบ้านคุณเต็มก็ได้ บางคนจะมาเรียนปริญญาเอก แต่ต้องมานับ ABCD หรือมาเริ่มต้นที่อินเดีย มันช้ามากๆสำหรับความคิดของผมนะ ดังนั้นเมื่อเห็นแวว ลางๆว่าอย่างไรจะต้องไปเรียนต่างประเทศแน่ๆ ควรเรียนภาษาอังกฤษเอาไว้ครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นอินเดีย เพียงแค่ได้เดินออกนอกสุวรรณภูมิ ภาษาอังกฤษก็คือภาษาประจำตัวเราแล้ว

ภาพหรือบุคคลในภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
                                                                                

ประการที่สอง เกาะกลุ่ม ปัญหาอย่างหนึ่งของคนไทยที่มาเรียนยังต่างประเทศก็คือชอบเกาะกลุ่มกันอยู่ จึงเป็นเหตุทำให้การเรียนภาษาอังกฤษช้าหรือได้ผลไม่ตามเป้าหมายที่ควรจะได้และควรจะเป็น เพราะพูดแต่ภาษาของตัวเอง ยิ่งภาคไหนมีคนภาคนั้นเยอะ ภาษาของคนภาคนั้นจะมีอิทธิพลเยอะมากๆ บางคนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนถึงต่างประเทศ ยังขนเพลงไทยมาฟัง ลูกทุ่งหมอลำ ไม่ได้ฝึกให้มีนิสัยฟังเพลงต่างประเทศหรือฟังข่าวต่างประเทศ บางคนดูแต่ข่าวไทย รายการไทย คืออยู่ต่างประเทศก็จริง แต่วิถีชีวิตไม่พ้นเมืองไทย ดังนั้นภาษาอังกฤษเลยไม่ค่อยพัฒนา ส่วนเพื่อนแขกก็ให้ใช้วิจารณญาณเอานะครับ ว่าประเภทไหนควรคบหรือไม่ควรคบ อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา ครับ คบคนที่ควรคบ พระท่านว่าอย่างนั้น

ประการที่สาม ขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดคุยกับครูอาจารย์ เพราะเนื่องจากภาษาอังกฤษของตัวเองไม่ดี กลัวครูถามแล้วตอบไม่ได้ กลัวเสียหน้า บางครั้งก็เป็นเหตุทำให้ความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ก็ไม่ค่อยสู้ดีมากนัก เพราะไม่ค่อยทำความรู้จักมักคุ้นกับครูอาจารย์ พูดไปพูดมาก็ต้องวกเข้าเรื่องเดิมๆ นั่นก็เพราะภาษาอังกฤษไม่ดีอีกนั่นแหละ

                                                                                     

ประการที่สี่ ก็คือขี้เกียจ บางคนภาษาอังกฤษไม่ดีแล้ว ยังขี้เกียจ นักศึกษาไทยบางคนรู้ทั้งรู้ว่าภาษาอังกฤษไม่ดีแล้ว ไม่ค่อยอ่านหนังสือดูหนังสือ ชอบเที่ยว ชอบมั่วสุม จึงไม่แปลกหากนักศึกษาไทยประเภทนี้จะเรียนไม่ค่อยจบหรือเรียนไปสักพักหนึ่งแล้วสอบไม่ผ่าน อยากเปลี่ยนคณะ ไปหาคณะที่ง่ายกว่า มหาวิทยาลัยไหนมีคนไทยเยอะ จะเจอนักศึกษาประเภทนี้เยอะ เพราะสังคมมันเอื้อต่อการดำรงชีวิตอยู่แบบขี้เกียจ

ประการที่ห้า ชอบลืมตัว บางคนลืมตัวว่าตัวเองมาเรียนหรือเป็นนักศึกษา อาจจะเป็นเพราะอินเดียมีความอิสระให้เต็มที่ เพราะทุกคนคิดว่า ตูไม่ได้เอาเงินมรึงมาเรียน ดังนั้นเรื่องบางอย่างก็ยากจะเตือน หากเห็นใครสักคน ออกนอกลู่นอกทาง เพราะบางคนคิดอย่างนี้ ก็เลยทำให้ คนใกล้ตัวไม่กล้าเตือน ก็เลยเป็นเหตุ ทำให้ลืมตัว นักศึกษาไทยบางคนลืมว่าตัวเองมาเรียนหรือมาทำอะไร แต่ครูอาจารย์แขกกลับรู้ว่านักศึกษาไทยมาทำอะไร สรุปก็คือเราลืมว่าเราเป็นใคร แต่แขกเขารู้ว่าเราเป็นใคร

                                                                                         
 ขอพูดเรื่องอาหารและสุขภาพนะครับ ยอมรับจริงๆว่า คนไทยส่วนมากทานอาหารแขกไม่ได้ ดังนั้นคนไทยหรือนักศึกษาไทย ต้องปรับตัวอีกเยอะในเรื่องอาหารหากไม่อยากปรับ ต้องไปจ่ายตลาดเอง ทำกับข้าวเอง ส่วนในเรื่องสุขภาพ เนื่องจากสุขลักษณะของคนอินเดีย ยังไม่ได้มาตฐาน ดังนั้นจะทานอาหารหรือกินอะไรตามข้างทางก็ต้องระมัดระวังให้มากๆ เพราะอะไรที่เราเห็นตามข้างๆทางดูเหมือนจะอร่อย แต่หากได้เห็นกระบวนการผลิตหรือที่ห้องครัวแล้ว รับรองได้เลยว่า เจ็บ (ท้อง) นี้อีกนาน ร้านนี้ไม่ลืม