เหตุผลหนึ่งที่เด็กไทยไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ

                                                           
อย่างที่เราทราบกันดี ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาบรรพบุรุษของเรา แต่พอมาเรียนต่างประเทศ มันกับมีบทบาทสำคัญกับเรามากๆๆเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทย ระบบในด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษผิดพลาด ผมเคยพูดเป็นล้านครั้งแล้วว่า บ้านเราเน้นให้เด็กเรียนแต่ไวยากรณ์ แต่ไม่เคยสอนให้เด็กเรียนการฟัง การพูด การสนทนา จากเจ้าของภาษาจริงๆ จึงทำให้คนไทยเก่งแต่ไวยากรณ์ ครั้นจะสนทนากับฝรั่งสักคน กับพูดไม่ได้ ทั้งที่คนไทยบางคนรู้ศัพท์มากกว่าเด็กฝรั่งอายุ 5 ขวบ เสียอีก อย่างที่สองครูสอนภาษาอังกฤษเองก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา บางทีครูเองก็ยังไม่เข้าใจถึงความลึกซึ้งของภาษาอังกฤษดีด้วยซ้ำ เพราะครูเองก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา และบางครั้งครูเองไม่มีจิตวิทยาในด้านการสอนภาษาอังกฤษ ไม่มีแรงจูงใจทำให้เด็กรักการเรียนภาษา—แม่แบบไม่ดี

นักเรียน ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำไม ขอแค่ให้สอบผ่านมองไม่ออกถึงอนาคตว่าภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างไร บางครั้งครูสอน สอนไม่ละเอียด หรือสอนไม่รู้เรื่อง จึงทำให้เด็กบางคนเกิดการเบื่อที่จะเรียน เด็กบางคนจะจบ ป.6 อยู่แล้ว ยังไม่รู้เลยว่า You จะต้องใช้กิริยา is หรือ are There are men หรือ There is a man ต่างกันอย่างไร เชื่อไหมครับ ว่าเด็กบางคน ยังไม่รู้เลยว่าสองประโยคนี้ ใช้ต่างกันอย่างไร ระหว่าง คำว่า มี ที่เป็นในรูปประโยค There is, There are และ have has had จนทำให้เด็กบางคนเกิดการเบื่อหน่ายในการที่จะเรียน ผลออกมาก็คือผลการเรียนไม่ดี—ผู้ตามไม่ดี

จริงๆแล้วปัญหาของเด็กไทย ไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ ไม่ได้ขึ้นอยู่ครูสอนภาษาอังกฤษเป็นคนไทยหรือไม่อย่างไร แต่องค์ประกอบมีหลายสาเหตุด้วยกัน เหมือนอุปกรณ์หรืออะไหล่ของรถ หากขาดล้อ รถก็วิ่งไม่ได้ หากขาดพวงมาลัย รถก็ไปไม่ได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนมีส่วนสำคัญทำให้เด็กไทยเก่งหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่ท้ายที่สุดมันก็ต้องจบลงที่ตัวเด็กด้วยเป็นส่วนสำคัญว่าเด็กมีความสนใจในวิชานี้หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดที่เป็นรูปธรรม คือระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมันผิดพลาดตั้งแต่ต้น เหมือนโจทก์มันผิด จะได้คำตอบถูกต้องได้อย่างไร เช่นถามว่า 2+2 ทำไมถึงได้ 5 การเรียนการสอนที่บ้านเราเน้นให้เด็กเรียนไวยากรณ์มากเกินไป และเรียนเพื่อแค่ให้สอบผ่าน โดยไม่ได้หวังว่าเด็กจะต้องเรียนเพื่อเอาไปใช้ในการทำงานอนาคต ทั้งที่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีข่าวสารมาในรูปแบบภาษาอังกฤษมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ มือถือ บางอย่างเริ่มมีภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นตัวสื่อ ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการเรียนภาษาอังกฤษที่บ้านเราผิดธรรมชาติ คือเน้นการเรียนรู้จากหนังสือมากกว่าการฟัง (จากการพูด การฟัง การสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ) ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าทำไม เด็กไทยจึงเก่งแต่ไวยากรณ์ แต่ไม่เก่งฟัง พูด และสนทนา เพราะระบบสอนให้เราเรียนรู้จากตำรา คือให้เรียนด้วยตา มากกว่า เรียนด้วยหู

ระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย โดยส่วนมากในระดับโรงเรียนของภาครัฐ ในต่างจังหวัด มีน้อยมาก ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งๆ จะมีอาจารย์เป็นชาวต่างชาติหรือฝรั่งมาสอน ส่วนมากอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษก็คืออาจารย์คนไทย ดังนั้นประโยชน์ที่เด็กจะได้รับประโยชน์จากการฟังภาษาอังกฤษจากต้นแบบจึงมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ชั่วโมงภาษาอังกฤษแต่อาจารย์ผู้สอนพูดไทยเกือบทั้งชั่วโมง บรรยายเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษโดยเนื้อหาเด็กได้แค่ไวยากรณ์ แต่ทักษะการฟัง การพูด การสนทนา เด็กไม่ได้

เมื่อเทียบกับโรงเรียนอินเตอร์ ในรายวิชาเดียวกัน อาจารย์ฝรั่งสอนเสร็จ บางโรงเรียนจะตามด้วยอาจารย์คนไทยสอนอีกครั้ง ให้เด็กได้ฝึกทักษะการฝัง การพูด และจบลงด้วยไวยากรณ์ นี่เป็นเหตุผลหลักทำไมเด็กโรงเรียนอินเตอร์ในประเทศไทยจึงเก่งภาษาอังกฤษ เพราะเขาได้ฝึกทุกวัน ได้ใช้ทุกวัน ได้ฟังทุกวัน ได้พูดทุกวัน และบางโรงเรียนบังคับ หากนักเรียนคนใดพูดไทยปรับคำละ 5 บาท แต่สำหรับโรงเรียนของรัฐ ครั้นครูหรือศักยภาพของโรงเรียนจะทำอย่างนั้นไม่ได้ จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้เด็กฟัง อาจจะมีปัญหาเด็กฟังไม่รู้เรื่อง ทำให้ระบบการเรียนการสอนล่าช้า เพราะปัญหาสำหรับบ้านเราก็คือขอแค่ให้สอบผ่าน วิชาภาษาอังกฤษแต่อาจารย์ผู้สอนบรรยายเป็นภาษาไทย ดังนั้นผลลัพธ์ออกมาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่เด็กจะได้นั่นก็คือไวยากรณ์ มากกว่าการฟัง การพูด การสนทนา และการออกเสียงที่ถูกต้องของศัพท์หรือกลุ่มคำ การออกเสียง การขึ้นลงของคำ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการพูดภาษาอังกฤษ

เด็กไทยเกือบร้อยละ 80% เรียนภาษาอังกฤษ ผิดธรรมชาติ อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่า หลักโดยทั่วไปการเรียนภาษาใดๆในโลกใบนี้ หลักเริ่มต้นก็คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่คนไทย เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล จนถึงปริญญาโท หรือปริญญาเอก อาศัยหลักการย้อนศรก็คือ เขียน อ่าน พูด และฟัง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม คนไทยจึงเรียนภาษาอังกฤษใช้ระยะเวลานานมากๆ เพราะหัวใจหลักของการพูดภาษาอังกฤษให้ได้ผล เราเอาไปไว้ท้ายสุด นั่นก็คือ การฝึกการฟัง การพูด บางประเทศ เช่น เบลเยี่ยม หรือเดนมาร์ค หรืออีกหลายประเทศ ที่เขามีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือสามเหมือนเมืองไทย เขาสอนภาษาอังกฤษกันไม่ถึงระยะเวลา 10 ปี สามารถพูด อ่าน เขียนได้ดี แต่สำหรับคนไทยแล้ว ตั้งแต่ ประถม (6-7ปี) มัธยม (6ปี) ปริญญาตรี (4-5 ปี) ปริญญาโท (4-5 ปี) หรือแม้กระทั่งปริญญาเอก เราก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ดูระยะเวลาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย ว่ามันใช้เวลานานมากๆ ไม่ใช่ว่าคนไทยเรียนไม่เก่ง แต่เพราะสาเหตุหลักๆก็คือ เด็กไทยส่วนมาก ไม่ค่อยได้มีโอกาสฝึกทักษะการเรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ นั่นก็คือ ฝึกการฟังและการพูด นี่ต่างหาก ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ แต่ภาษาอังกฤษก็ยังใช้การไม่ได้ ผมให้ข้อสังเกตง่ายๆ ทำไมเด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยอินเตอร์ถึงเก่งภาษาอังกฤษ ก็เพราะเขาได้ฝึกพูดทุกวัน ได้ฟังทุกวัน

ผมมีวิธีการเรียนภาษาอังกฤษแบบได้ผลจริงๆ มาฝากน้องๆ บางครั้งสำหรับน้องๆท่านใด ที่ยังยึดติดอยู่กับ กรอบความคิด ความเคยชิน แบบเดิมๆ อ่านไปก็รู้สึกมันขัดกับนิสัยคนไทย อย่างไรบอกไม่ถูก ต้องพยายามกระโดดออกมาจาก ตรงนั้นให้ได้ และทำใจให้เป็นกลาง แล้วภาษาอังกฤษของน้องๆ จะได้ผลอย่างเห็นได้ชัด จากการเรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ อย่ารีบร้อน กฎนี้ ผมตั้งชื่อว่า บันไดเจ็ดขั้น แต่จริงๆ มันมีแค่ 6 ขั้น ล้อเล่น จริงๆมันก็มี 7 นั่นแหล่ะ คือ

1. Always Study and Review Phrases, Not Individual Word คือให้เรียนและจำเป็นวลี ไม่ใช่เรียนแบบเป็นคำๆ เช่นจำคำว่า Home บ้าน Come มา Go ไป หรือท่องกริยาสามช่อง อย่าครับ อย่า.....คนไทยส่วนมากเรียนภาษาอังกฤษด้วยท่องจำคำศัพท์ แต่ทว่าคนอังกฤษเขาไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วยการจำคำศัพท์เป็นคำๆ คนอังกฤษเขาเรียนเป็น Phrase (อ่านว่า "เฟรช") ก็คือกลุ่มคำหนึ่งๆ ซึ่งมีความหมายแต่ไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองเหมือนกับประโยค ขอยกตัวอย่าง เช่น

"in the corner" = ในมุมๆหนึ่ง (มันสื่อสารไม่สมบูรณ์ ก็เพราะ 1.ไม่รู้มุมอะไร? 2.ใครทำอะไรกับมุม? 3.มันเกิดอะไรขึ้นกับมุม?) จะเห็นว่าความหมายจาก Phrase มันสื่อได้ไม่สมบูรณ์ในตัวมันเอง ลักษณะต่อไปนี้จะเจอในกลุ่มคำที่เป็น Phrase

1.ไม่มีกริยาแท้(Finite verb)ในตัวมันเอง

e.g. The sun rises in the east.

e.g. "My neighbour in the house to the left" = Noun phrase

"in the house" = Phrase1 (Prep phrase ทำหน้าที่ Adjขยาย my neighbour)

" to the left" = Phrase2 (Prep phrase เป็นAdj ขยาย the house)

คำเหล่านี้ ฝรั่งเรียกว่า phrase หากต้องการเรียนให้ได้ผล ควรจะจำคำเหล่านี้มากกว่า คำโดดๆ เช่น Home House Accept Except etc. เพราะบางครั้งการสนทนาภาษาอังกฤษ บ่อยครั้ง ที่ใช้ Phrase ในการตอบคำถาม

2. Don’t Study Grammar ห้ามเรียนไวยากรณ์ โดยเฉพาะข้อนี้ อาจจะเป็นอะไรที่ขัดใจกับคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะคนไทยส่วนมาก ยึดติดรูปแบบไวยากรณ์มากเกินไป จึงเป็นเหตุทำให้คนไทย เวลาจะพูด ต้องคิดสองระบบ คือต้องผ่านกระบวนการคิดเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยคิดเป็นภาษาอังกฤษนั่นก็คือ คิดเป็นรูปแบบไวยากรณ์ อย่าลืมว่า หากจะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลจริงๆ ต้องเรียนด้วยหู ไม่ใช่ด้วยตา! เหตุผลเป็นจำนวนมากที่คนไทยคุยกับฝรั่งไม่รู้เรื่องเพราะ เราไม่ได้ออกเสียง เหมือนอย่างที่คนฝรั่งเขาออก เช่นภาษาอังกฤษแบบคนไทยออกเสียงเป็น Menu (เมนู) แต่ฝรั่งออกเสียงเป็น (เมนิว) ภาษาอังกฤษแบบไทย ออกเสียง International อินเตอร์เนชั่นแนว หรือ แนล แต่ฝรั่งออกเสียงเป็น อินเตอร์เนชั่นเนิล American share ซึ่งหมายถึง มีอะไรก็มาแบ่งๆ กัน หรือเวลาไปทานข้าว ก็มักจะได้ยินคนไทยพูดว่า American Share แต่ฝรั่งเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่ได้ใช้คำนี้ เขาใช้คำว่า Let’s go Dutch นี่หมายถึง แบ่งๆกัน หรือแชร์กัน


3. The Most Important Rule, Listen First กฎข้อนี้ก็คือ ฝึกฟัง ฟัง และฟัง ให้มากๆๆ การอ่านหนังสือก็ดี เรียนไวยากรณ์ก็ดี หรือจำคำศัพท์ก็ดี ไม่ได้ช่วยให้การพูดภาษาอังกฤษดีขึ้น เพราะการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผล ต้องเรียนด้วยหู ไม่ใช่ด้วยตา การฟังเป็นสิ่งสำคัญมากๆ มันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกว่า คุณเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน หากเรียนในห้องเรียน มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้านั่นก็คือ เราเรียนเพื่อให้สอบผ่าน นี่คือเป้าหมายของการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน แต่เป้าหมายเพื่อนำไปใช้ในการทำงานหรืออนาคต แทบจะไม่มี

4.Slow, Deep Learning is Best วิธีการนี้นั่นก็คือ เรียนช้าๆ สุขุมลุ่มลึก ความลับสำหรับการทำให้พูดภาษาอังกฤษง่ายนั่นก็คือเรียนทุกคำ และวลี อย่างละเอียด บางครั้งเราเปิดดิกชั่นนารี ก็เพื่อให้รู้แค่ความหมาย แต่เราไม่ค่อยดูเนื้อหาของคำ ว่าคำนี้ทำหน้าที่อะไรได้บ้าง นอกจากเป็นประธาน เช่นคำว่า Practice หรือคำว่า Practise ต่างกันตรงไหน และคำว่า เบื่อ I am bored ผมเบื่อ หากเป็น I am boring ผมเป็นคนน่าเบื่อ This book is very interesting หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก I am interested in this book ผมสนใจหนังสือเล่มนี้ because this is very interesting เพราะมันน่าสนใจดี เป็นต้น

5. Use Point of View Mini-Stories กำหนดเรื่องราวของเรื่องภายในประโยค ด้วยการฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นโครงสร้าง หรือเนื้อเรื่อง ที่เป็นกาล อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ปัจจุบันนี้ มีบทหรือเนื้อหานิทาน ที่เขาทำเอาไว้ ใน 1 เรื่อง แต่ทำเอาไว้เป็น 3 tenses อดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้เราได้ฟัง คือเรื่องเดียวกัน แต่ทำเป็น 3 tense สามารถหาดาว์นโหลดมาฟังได้ในอินเตอร์โดยทั่วไป และมีบทให้เราได้อ่านตามด้วย ฟังการออกเสียง และฟัง tense แต่ละ tense เป็นการเรียนหลักไวยากรณ์ด้วยการฟัง และจำ ซึ่งจะได้ผลมากกว่าเรียนด้วยตำรา (text book) และทำให้กระบวนการพูดภาษาอังกฤษไม่ติดขัด เช่น Yesterday I went to school. Today I am going to school. Tomorrow I will go to school / Tomorrow I am going to school.



6. Only Use Real English Lessons and Materials ถึงแม้เราจะเรียนมามากเกี่ยวกับตำราไวยากรณ์ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจคนอังกฤษพูด เพราะสำเนียงการพูด ความไว การออกเสียง แตกต่างจากในตำราอย่างมาก หรือแม้กระทั่งในเทปหรือแผ่นซีดี ที่เราเห็นเขาเรียนกันโดยทั่วไป เพราะเวลาเราเจอคนอังกฤษจริงๆ ภาษาที่เขาใช้กับเราก็คือภาษาแสลง (Slang) (ไม่เป็นทางการ แบบเพื่อน) เช่น What’s up? How’s going? เป็นไงบ้าง อีเดี้ยม (Idioms) กลุ่มคำ Don’t be a chicken guy? อย่ากลัวไปเลย That’s a bommer ซวยจริงๆ หากอยากฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง ต้องเรียนภาษาอังกฤษที่แท้จริง จะเรียนภาษาอังกฤษที่แท้จริงได้ที่ไหนนะเหรอ จากหนังไง ทีวีโชว์ของฝรั่ง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นภาษาที่คนอังกฤษที่เขาใช้กันในชีวิตประจำวัน เหมือนตำราภาษาไทย สวัสดีครับ เต็มดาษดื่น ในหน้ากระดาษหรือบทเรียน แต่ในชีวิตจริงของคนไทย หวัดดี เป็นไงบ้าง ว่าไง

7.Listen and Answer not Listen and Repeat ฟังแล้วให้ตอบ ไม่ใช่ฟังแล้วให้พูดตาม การฟังแล้วพูดตามจริงๆ ก็คือการ copy สำเนียงหรือคำพูด แต่นั่น ยังก็ยังไม่ใช่เป็นการฝึกการฟังภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แต่เมื่อเราได้ยินคำถามและเราตอบคำถามนั้น นั่นหมายความว่า เรากำลังคิดเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการฝึกในการรับฟัง ในการสนทนา เพราะการโต้ตอบ ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 วินาที ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 4-5 วินาทีนี้ เราจะต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษได้แล้วว่า เราจะต้องตอบอย่างไร

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นการฝึกภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ อาจจะเป็นอะไรใหม่สำหรับคนไทยหลายๆ คน ที่ยังไม่พร้อมสำหรับสิ่งใหม่ หรือยังยึดติดรูปแบบเดิมจากการเรียนภาษาอังกฤษ ที่สังคมได้วางกรอบเอาไว้มาหลายยุคหลายสมัย นั่นก็คือ เรียนทางตำรา หากไม่มีอยู่ในตำราแสดงว่าใช้ไม่ได้ หากคุณอยากพูดภาษาอังกฤษเก่ง คล่อง วิธีการทั้ง 7 จะทำให้ย่นระยะเวลาได้มาก แต่หากอยากเก่งไวยากรณ์ ก็ต้องเรียนทางตำรา แต่ยังยึดติดกับตำรา ตำราจะไม่ช่วยทำให้การพูดภาษาอังกฤษของคุณดีขึ้นได้เลย นอกจากเก่งไวยากรณ์ ในบรรดาทักษะทั้ง 4 อย่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างไหนสำคัญกว่า ทุกอย่างสำคัญเท่ากันหมด มีขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้งานอย่างไหนมากกว่ากัน หากเป็นไกด์ ฟังและพูด สำคัญมาก หากเป็นนักเขียนนักแปล หลักไวยากรณ์สำคัญมาก ดังนั้นไม่มีอะไรผิดอะไรถูก ว่าคุณจะเรียนแบบไหน แต่มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกเรียนแบบไหนมากกว่า

ครับ! ที่พูดมาทั้งหมด สรุปสั้นๆก็คือให้ฝึกฟังมากๆ และฝึกพูดมากๆ และนำเอาไปใช้บ้าง

                                                                                                                                                                                                                                                      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น