นมัสเตอินเดีย:สภาพความเป็นอยู่ในอินเดีย

                                                                              
                                                                                    
ครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสมหาวิทยาลัยในเมืองแขก ผมชอบบรรยากาศที่นี้มาก คือเต็มไปด้วยแมกไม้นานาชนิด ซึ่งแตกต่างจากนอกกำแพงมหาวิทยาลัยราวเมืองสวรรค์กับนรก จริงๆนะ มาอยู่อินเดียได้ 1 อาทิตย์ ผมไม่สบายอย่างหนัก เพราะร่างกายยังปรับสภาพไม่ได้ ตลอดจนยังไม่คุ้นกับอาหารการกิน การเป็นอยู่ในอินเดียไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับสภาพภูมิอากาศและอาหารการกิน ถึงหน้าร้อนอากาศร้อนมากๆ บางเมืองก็มีของแถมมาด้วยนั่นก็คือฝุ่น ต้องหลบหนีไปอยู่เมืองที่อากาศดี เช่น ฉิมล่า ดาร์จี่ลิ่ง ธรรมศาลา เพราะเมืองเหล่านี้ เป็นเมืองพักตากอากาศ อากาศดีตลอดทั้งปีทั้งเดือนและทั้งวัน เป็นเมืองท่องเที่ยวว่างั้นเถอะ ทั้ง 3 ภพ เอ้ย ทั้ง 3 เมืองที่ผมกล่าวมาเบื้องต้น มีนักเรียนไทยอาศัยอยู่ ฉิมล่าก็มีนักศึกษาไทยในระดับมัธยมเกือบ 3 ร้อยกว่ากองกันอยู่ที่โน้น ดาร์จีลิ่งก็มีทั้งนักเรียนไทยและคนไทยที่มาเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นๆหรือมาเที่ยว เมืองนี้ชื่อเสียงก็คือชา อากาศน่าจะมี 2 ฤดู คือฝนและหนาว ไปอยู่ที่โน้นเกือบเดือน มีแค่สองฤดูจริงๆ ฝนและหนาว ส่วนธรรมศาลาส่วนมากเป็นนักศึกษาไทยขาจร คือไปเรียนภาษาอังกฤษกับครูฝรั่งที่มาสอนลามะ เอาไว้ค่อยพูดให้ฟังทีหลังนะครับ เรื่องธรรมศาลา

สภาพบ้านเมืองหรือตลอดจนสภาพมหาวิทยาลัยหากมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย การกินการอยู่ไม่ลำบาก การเรียนก็ราบรื่นไปด้วย ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยตามทฤษฎีของผม อาจจะเป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งที่ไม่ถูกต้องเสมอไปก็ได้สำหรับอินเดีย อินเดียเป็นประเทศกว้างและมีความแปลกประหลาดในตัวของมันเอง บางรัฐหนาวมากๆ ขณะที่บางรัฐร้อนมากๆ บางรัฐมีแต่ทะเลทราย ดังนั้นความพอดีจึงไม่มีที่อินเดีย

อย่างที่ผมได้เคยกล่าวเอาไว้แล้ว คือไม่มีที่ไหนจะเป็นสวรรค์บนดินเท่ากับเมืองไทยอีกแล้ว ของกินมีทั้งปี ไม่ว่าอยากกินอะไรก็มีให้กิน ร้านอาหารแบบจานด่วนมีให้กินทั้งกลางวันและกลางคืน ที่อินเดียพอ 4 ทุ่มแขกกินข้าวเย็นกัน พอ 5 ทุ่มก็นอนกันเกือบทั้งเมือง ตี 1 ตี 2 หากหิวขึ้นมา ก็คงไม่พ้นอาหารสิ้นคิดอีกตามเคย ต้มมาม่า เจียวไข่ คือคิดอะไรไม่ออกแล้ว ก็ต้มมาม่า เจียวไข่ อาจจะมีเมนูพิเศษขึ้นมาหน่อยหนึ่ง พัดมาม่าใส่ไข่ หากเบื่อกลัวไม่มีรสชาติ ก็ต้มมาม่าใส่ไข่ ใส่ผักเท่าที่จะพอหาได้ มีรายการอาหารตั้งมากมายที่ผมเคยจดเอาไว้ในไดอารื่ ที่คิดเอาไว้ว่า หากกลับเมืองไทยจะต้องไปหากินให้ได้ พอกลับไปเมืองไทยจริงๆ อาจจะเป็นเพราะอิ่มใจที่ได้กลับมายังถิ่นมาตุภูมิหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ รายการอาหารที่จดเอาไว้ แทบจะไม่ได้กินอะไรเลย นอกจากก๋วยเตี๋ยว แต่อย่างน้อยก็ยังมีให้เลือก ก๋วยเตี๋ยวไก่ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น น้ำเงี้ยวเย็นตาโฟ แต่อยู่อินเดีย ผมจะหากินก๋วยเตี๋ยวที่ไหน หาแขกขี้ตามท้องไร่ท้องนา ยังจะหาง่ายเสียกว่า พูดขึ้นแล้ว ก็อดเปรี้ยวปากไม่ได้ นึกถึงส้มตำอีกแล้ว

อย่างที่ผมบอกจะมีที่ไหนอีกที่เป็นเมืองสวรรค์สำหรับนักชิมเท่ากับเมืองไทย อาหารที่พอจะพบปะในชีวิตประจำวันแขกในระดับรากหญ้า เท่าที่เคยเห็นก็มีอยู่ไม่มาก ส่วนมากจะเป็นอาหารซ้ำๆกัน ไม่หลากหลายเหมือนบ้านเรา

เวลาผมนึกถึงคำพูดของรุ่นพี่ที่เคยบอกต่อกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่น อยู่อินเดียระวังถ้าไม่หัวล้านก็ผมหงอก ไม่รู้เป็นไง ผมนึกถึงคำพูดเหล่านี้ทีไรมักจะอดขำไม่ได้ ทำไมมันถึงเป็นเฉพาะคนอยู่อินเดีย ทุกปีมักจะมีให้เห็นตลอด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่หรือเพื่อนๆที่มารุ่นเดียวกัน ผมหงอกและผมบาง บางคนทั้งล้านและหงอก ถือว่าเป็นความซวยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะทานกับข้าวแขกมากเกินไป อาจจะเป็นเพราะอากาศ อาหาร ก็มีส่วนทำให้หงอก ว่าก็ว่าเถอะ ผมเองก็ถอนไปเยอะแล้วเหมือนกันนะ ผมหงอก พูดเรื่องผมหงอกแล้วจิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว อิอิ



บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะทานลาสซี่มากซึ่งมีส่วนผสมของนมบูดและน้ำตาลมากเกินไป ลาสซี่ก็คือโยเกิตนมเปรี้ยวดีๆนี่เอง กินครั้งแรกผมก็ยังแยกรสชาติไม่ออกว่าลาสซี่กับนมบูดมันแตกต่างกันอย่างไร กรรมวิธีในการผลิตก็ทันสมัยมาก คือใช้มือปั่น ที่อย. ก็ยังไม่กล้าออกใบรับรองคุณภาพ อุปกรณ์ในการผลิตที่ผมพอจะนึกออก ก็คือไม้มีลักษณะคล้ายๆกับสากไม้ และหม้อ (หม้อจริงๆ) เอานมที่ผสมกับหัวเชื้อซึ่งจะทำให้นมเป็นนมเปรี้ยวขึ้นมาในระยะเพียงแค่ชั่วข้ามคืน น้ำแข็งมือ และน้ำตาล เอาส่วนผสมทั้งหมดลงในหม้อ น้ำแข็งก็เอามือหยิบใส่ น้ำตาลก็เอามือกอบใส่ มีแต่นมบูดเท่านั้นที่แขกยังพอมีโภชนาการเอาทัพพีตักใส่หม้อบ้าง แล้วใช้อุปกรณ์ในการปั่นที่คล้ายๆกับสากไม้ ปั่นไปมาพอให้เหงื่อมือไหลเป็นอันว่าสิ้นสุดกรรมวิธีการผลิตโยเกิตหรือลาสซี่ ส่วนผสมทั้งหมดในหม้อเข้ากันได้ที่ เหมือนข้าวโอ๊ตเด็ก มีคนไทยหลายคนก็ชอบทาน ราคาสนนอยู่ที่ถ้วยละประมาณ 10-12 รูปี บางร้านหากเราเป็นลูกค้าประจำก็ลดให้เหลือแค่ถ้วยละ 11 รูปี ลดให้รูปีเดียว ต่อให้เหลือ 10 รูปีไม่ได้ เพราะแขกบอกว่าน้ำตาลแพง

บางเจ้าสั่งลาสซี่สามถ้วยดินเผา ใส่น้ำตาลทรายเป็นกิโล อุปกรณ์ในการใส่ลาสซี่ก็คือถ้วยดินเผาดีๆนี่เอง กินเสร็จแล้วก็โยนถ้วยทิ้งลงในถังขยะหรือหน้าร้านแตกกลาดเกลื่อนเต็มไปหมด โดยที่ไม่ต้องล้าง เป็นเหตุผลที่ผมและนักศึกษาไทยมักจะสรุปเอาเองก็คือแขกรังเกลียดแขกด้วยกันเองในเรื่องการสัมผัสทางชนชั้น สังเกตเวลาแขกจะดื่มน้ำจะไม่เอาแก้วหรือว่าเหยือกแตะตรงปาก ส่วนเครื่องดื่มอีกอย่างหนึ่งที่เราจะพบปะ ริมถนนหนทางจนถึงภัตตาหารทะลักไปถึงบนรถไฟก็คือจ๋าย จ๋ายก็คือชานั่นเอง กะลัม กาลัม ก็คือร้อน ตอนค่ำคืนหรือตอนกลางวัน เวลานั่งรถไฟ เราจะได้ยินบ่อย เวลามีคนมาขายชา บอกจะได้ยินเสมอว่า กินแล้วต้องจ่าย กะลัมจ๋าย แปลเป็นภาษาไทยก็คือชาร้อนๆไหมครับ อะไรทำนองนั้น แต่ส่วนมากจะได้ยินเป็น กินแล้วต้องจ่าย โดยส่วนตัวผม ไม่ค่อยได้มีโอกาสทานบ่อยนัก เพราะไม่ชอบ หากไปเที่ยวบ้านอาจารย์แล้วท่านยกมาเลี้ยงต้อนรับ ถึงจะทานสักครั้ง เพราะเกรงใจท่าน กลัวจะเปลืองนั่นเอง

ชีวิตการเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยในอินเดียจะมีความเป็นอยู่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่าจะอยู่รัฐไหนเมืองไหน หากอยู่ในรัฐที่เจริญเป็นเมืองเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายไปด้วย ส่วนมากนักศึกษาที่ศึกษายังตอนใต้ของอินเดียส่วนมากไม่นิยมพักหอในมหาวิทยาลัย อาจจะมีเหตุผลหลายประการแต่ ที่สำคัญนั่นก็คือสะดวกกว่า และสามารถกับอาหารทานเองได้ หรือแล้วแต่ความพอใจของนักศึกษาเองว่าจะอยู่หอพักนักศึกษาหรือจะเช่าบ้านอยู่ข้างนอก แต่การอยู่พักอยู่ในมหาวิทยาลัยย่อมประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายได้มาก

บางมหาวิทยาลัยนักศึกษาต้องนั่งรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์หลายกิโลเพื่อไปจะไปเรียน โอกาสที่จะพบกันก็มีน้อยมาก หรือหากจะพูดว่าต่างคนต่างอยู่ก็ไม่ผิดอะไร หากท่านมีปัญหาอะไร ท่านต้องถือคตินี้ให้มากๆครับ ตนเองเป็นที่พึ่งของตน เพื่อนๆบางครั้งก็แค่อาจจะรับรู้และรับทราบถึงปัญหาของเรา อาจจะช่วยเหลือได้บ้างไม่ได้บ้าง ตัวเราเองต้องแก้ปัญหาเอง อย่างน้อยเป็นการสร้างความอดทน และปัญหาต่างๆก็อาจจะทำให้เราเก่งขึ้น แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำนั่นก็คือหาเพื่อนดีๆสักคนหนึ่ง ที่พอจะช่วยเหลือเราได้และเราพอจะช่วยเหลือเขาได้บ้าง เพราะการอยู่อินเดียค่อนข้างจะมีปัญหาเยอะมาก อาจจะได้ไหว้วานกันหรือช่วยเหลือกันในยามตกทุกข์ได้ยาก เพื่อนที่ดี...เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ท่านควรแสวงหานอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์

ส่วนบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยในอินเดีย จะคล้ายๆกันหมด นั่นก็คือมีเนื้อที่บริเวณกว้างมาก บางมหาวิทยาลัยมีเนื้อที่ 3,000 – 3,500 ไร่ สัตว์เล็กสัตว์น้อย ลิง กระรอก อีเห็น ตัวเงินตัวทอง พังพอน งูเหลือม นกยูงและนกอีกหลายชนิด ส่วนสุนัขจิ้งจอกในมหาวิทยาลัยผมก็มีให้เป็นบ่อยๆ แต่มหาวิทยาลัยอื่นในอินเดีย ผมไม่ทราบว่ามีสุนัขจิ้งจอกหรือเปล่า เพราะส่วนมากจะพบเห็นในตอนกลางคืน สภาพที่ผมเล่ามาหาได้ไม่ยากในอินเดีย แต่หาดูได้ยากในบ้านเรา

ตลาดของคนอินเดีย ส่วนมากจะมีแต่ผัก และมีแต่ผู้ชายขายของ

สภาพความเป็นอยู่ในอินเดียเราจะถือเอาเมืองใดเมืองหนึ่งเป็นบรรทัดฐานมาวัดหรือเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะสภาพการเป็นอยู่ในแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน หากผมจะบอกตามทัศนะของผมที่ผมได้มาศึกษาถึงความด้อยพัฒนาและผู้คนก็นิสัยไม่ดี นั่นก็คือ รัฐพิหารและรัฐยูพี สองเมืองนี้ ที่ไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่นัก ส่วนเมืองที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ด้วยกันเคยไปเที่ยวมาก็ชมเป็นคำพูดเดียวกันเหมือนกับนัดกันไว้ นั่นก็คือน่าอยู่มาก ผู้คนก็อัธยาศัยดี แต่ถึงคราวหน้าร้อน อากาศร้อนถึงใจ ผมมาถึงบางอ้อว่าทำไม ร้อนจนตับแตก ก็ตอนมาอยู่อินเดียนี้แหละ บ้านเราร้อนตายนี้ไม่ค่อยมีนะครับ มีแต่หนาวตาย แต่อินเดียร้อนก็ตาย หนาวก็ตาย น้ำท่วมก็ตาย หากอยู่ในตัวเมือง ข้าวของมักจะแพง

ส่วนเมืองที่ผมอยู่ก็มีดีอวดคนไทยที่อยู่เมืองอื่นรัฐอื่นเหมือนกัน คือสกปรก แขกขี้เยี่ยวไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่น่าอยู่ ผู้คนก็นิสัยไม่ดี ขับรถก็ไม่มีระเบียบวินัย อยากจะแซงก็แซง อยากจะเลี้ยวก็เลี้ยว ปวดหัวเวียนเกล้าไปหมด นี้แหละที่พอจะอวดคนอื่นได้บ้าง เป็นอันว่าผมให้เครดิตเมือง นิวเดลฮี จันทร์ดิการ์ฮ และทางตอนใต้ของอินเดียเป็นเมืองที่น่าอยู่

นักศึกษาไทยที่เรียนภาคใต้จะเป็นอยู่ดีกว่าเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะแพงมาก แต่สภาพภายในมหาวิทยาลัย ส่วนมากจะมีเหมือนกันนั่นก็คือสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด น้อยใหญ่ บางชนิดเราไม่มีโอกาสได้พบเห็นที่เมืองไทย มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่มีต้นสักทองอายุ 300 กว่าปีก็มี ต้นประดู่ อายุ ราวๆ 200 กว่าปีก็มี ดังนั้นบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยในอินเดียจึงเต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิดและเต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิดด้วยเช่นเดียวกัน

นี้อาจจะเป็นความน่ารักที่ใครๆ ก็ไม่ปรารถนาอีกอย่างหนึ่งของการมาอินเดียคือการฝากซื้อของจากเมืองไทยและมีคนฝากของจากเมืองไทยมาให้นักศึกษาไทยด้วยกันเองที่อินเดีย ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับกลุ่มนักศึกษาไทยที่ผมเรียนอยู่ เป็นเพราะหลายๆคนอาจจะมีความคิดว่าเมืองไทยก็อยู่ไม่ไกลมาก การเดินทางโดยเครื่องบินค่อนข้างสะดวก หากมีใครสักคนหนึ่งไปเมืองไทยแล้วกลับมาอินเดีย การฝากซื้อของจากเมืองไทยกลับมา ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาช้านานถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ของที่ฝากกันโดยมากจะเป็นของใช้หรือว่าของกิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยี่ห้อไหนก็ได้ แล้วแต่ใครจะชอบแบบไหนมากกว่า น้ำปลา กะปิ และเครื่องสำอาง คนที่รับฝากต้องรับภาระหิ้วของหนักของแต่ละอย่างล้วนแล้วมีแต่ของฝากของเพื่อนๆนักศึกษาไทยด้วยกัน แม้แต่ส่งจดหมายหรือว่าฝากส่งพัสดุ ก็ต้องฝากเอาไปส่งที่เมืองไทย

หากท่านจะไปศึกษาต่อยังรัฐที่เจริญหูเจริญตาหน่อยหรือเป็นเมือง เศรษฐกิจ ไม่ต้องห่วงเรื่องของใช้ที่จะนำติดตัวมา เช่น เมืองหลวงนิวเดลฮี ปัญจาบ ปูเณ่ เชนไน บังคาลอร์ ฯลฯ สิ่งของจำเป็นหรือไม่จำเป็นบางอย่าง เป็นสินค้านำเข้ามาจากเมืองไทย หาซื้อได้ แต่ราคาต้องขอบอกว่าแพง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อินเดีย และเป็นสินค้าของคนไทย ที่นิวเดลฮีก็มีขาย แต่ว่าซองหนึ่ง บางร้านก็ขาย 10 รูปี บางร้านก็ขาย 12 รูปี แล้วแต่ว่าร้านไหนจะขายแพงและหน้าเลือดกว่ากัน ส่วนมากสินค้าเหล่านี้ แขกนำเข้ามาเอง อยู่ที่เมืองไทยไม่มีเงินทานบะหมี่ แต่อยู่ที่อินเดียมีเงินถึงจะทานบะหมี่ของไทยได้ ปลากระป๋องอยู่เมืองไทยนักศึกษาไทยบางคนไม่เคยทานมาก่อนเลย แม้แต่หางตาก็ไม่เคยชำเลืองมอง แต่พออยู่อินเดีย ยี่ห้อไหนก็อร่อยไปหมด

เนื่องจากฝุ่นค่อนข้างเยอะมากบนท้องถนน พี่หรั่งต้องปิดจมูก
                                                                                 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น