ภายในสนามบินโกลกัลต้า
ประมาณปี 2546 ยังจำได้แม่น เป็นปีแรกที่ผมได้มีโอกาสมาเหยียบแผ่นดินภาระตะเป็นครั้งแรก ที่สนามบินโกลกัลต้า ปีนั้นจำได้ว่า ต้นตะไคร้ที่หน้าบ้าน ยังไม่ออกดอก จนกระทั่งป่านนี้ ปี 2553 ต้นตะไคร้ต้นนั้น ก็ยังไม่ออกดอก ผมเดินทางมาอินเดียในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่ใครๆก็ไม่อยากจะมากัน เป็นช่วงหน้าร้อน แต่ผมกลับมา (ไม่แนะนำให้มาอินเดียในช่วงมีนาคมถึงพฤษาคม...อากาศมันร้อนมากๆประมาณ 45-47 องศา) วินาทีแรกที่ผมเดินทางมาอินเดีย บอกตามตรงนะ หากคนอินเดียคนไหนหลงเข้ามาอ่าน ผมยกมือกราบขอโทษหล่ะ หากผมพูดอะไรไม่ใช่ความจริง เดินมาหอมแก้มผมได้เลย “ตูมาทำบ้าอะไรที่นี้วะเนี่ย ทำไมคนมันเยอะอย่างนี้วะ” มีคนทุกตรอกซอกซอย บังเอิญโกลกัตต้าเคยเป็นเมืองหลวงของอินเดีย แต่ตอนนี้สภาพทรุดโทรมมาก รถรางก็ยังมีอยู่นะ (คำว่า รางไม่รู้เขียนถูกหรือเปล่า) บังเอิญไวยากรณ์ภาษาไทยก็เอาคืนอาจารย์ไปหมดแล้ว ภาษาไทยก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง ภาษาอังกฤษก็ย่ำแย่ ภาษาแขกก็ไม่ได้สักกะตัว แทบจะไม่มีอะไรดีให้อวดเลย
มหาวิทยาลัยกัลกัตต้า ปัจจุบัน...ปัจจุบันเลยนะครับ มีนักศึกษาไทยมาเรียนถือว่าไม่เยอะ แต่ก็มี สำหรับท่านใดที่สนใจมาเรียน ก็มาเรียนได้ครับ ลองนึกถึงกรุงเทพเมื่อประมาณสัก 50 ปีที่ผ่านมา ประมาณนั้นเลย สภาพอาคารบ้านเมือง น่าจะอยู่ในยุคนั้น สภาพการจราจร โอ๊วแม่เจ้า....ไม่อยากจะ said ปวดหัวเลย ถ้าจะให้บรรยายเรื่องสภาพถนนและการจราจรแขกนี่ ขอกินยาแก้ปวดหัวก่อน 2 เม็ด เพราะไม่รู้จะหาคำไหนมาเสกสรร ให้มันดูดี เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนก่อน เพราะไม่ว่าจะหยิบยกเรื่องไหนมา ผมนินทา เอ้ย พูดได้ทุกเรื่องว่างั้นเถอะ ถนนฝุ่นตลบ ควันขโมก มือขวาปิดจมูก มือซ้ายปาดเหงื่อ ก้นเตรียมโยกตามเบาะรถ เพราะถนนไม่ค่อยดี รถแท็กซี่มีแอร์ แต่ต้องเปิดแอร์ให้เข้ามา บ้านเมืองไม่ค่อยสะอาด ส่วนห้องน้ำ นี่เลยข้างทางเพราะหากเป็นห้องน้ำสาธารณะ คือมันเข้าไม่ได้หน่ะ เพราะว่ามันโคตะระสกปรก อันนี้โดยภาพรวมนะ ไม่ต้องพูดเอาหน้า สภาพเป็นแบบไหนผมก็บอกไปตามนั้น เพราะอย่างไรก็คงไม่มีเทศบาลคนไหนมาลากคอผมไปสอบสวน เพราะผมไม่ได้เรียนอยู่เมืองนี้ เมืองที่ผมเรียนอยู่โบราณกว่านี้ วุ่นวายกว่านี้ สภาพการจราจรแย่กว่านี้ สกปรกกว่านี้ เออ...จริงๆนะ ประมาณว่ากดแตรแข่งกันเต็มท้องถนน ลองนึกสภาพดูดิว่ามันจะวุ่นวายขนาดไหน ผมอยากจะนอนยันบอกคนไทยทุกๆคนว่า คนไทยโชคดีมากเลยนะครับที่เกิดที่ประเทศไทย ที่อินเดียนะ บางรัฐนะครับ เวลาประมาณสัก 4 ทุ่มไปแล้ว ไม่มีร้านค้าไหนเปิดเลย เขาปิดร้านกันตั้งแต่ 9.30 น ร้าน 7 11 ก็ไม่มี ส่วนมากก็จะทานอาหารญี่ปุ่นแทน มาม่า ไวไว ยำยำ หากใครคิดจะมาเรียน อดทนขนมาม่า(รสที่ตัวเองชอบ)มาด้วยสักกล่องสองกล่องหรือสักสามสี่กล่องก็ดีครับ เอาไว้ในยามสิ้นคิดคือไม่รู้จะกินอะไรแล้ว นี่เลย อาหารญี่ปุ่น ตกลงเขาเรียกว่าขนหรือว่าแบก
ตอนที่ผมจะมาเรียน รุ่นพี่เขาก็แนะนำให้ผมเอามา แต่เยอะกว่านี้ รายการเท่าๆที่ผมพอนึกได้นะ เทียน เพราะแต่ก่อนไฟดับบ่อยมาก วันหนึ่งหลายชั่วโมงหน่ะ เมื่อผมรู้อย่างนี้ผมก็เลยเอาเทียนพรรษาที่เขาถวายพระ แต่เป็นขนาดเล็กนะครับมาเลย แต่ก่อนเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังดับอยู่ จริงๆแล้วเขาก็เสมอต้นเสมอปลายดีนะครับ แต่ก่อนผมมาไฟดับอย่างไรปัจจุบันก็ยังดับเหมือนเดิม รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ผงซักฟอก น้ำปลา กะปิ มุ้ง หมอน ผ้าห่ม มาม่า อาหารแห้ง ปลาร้าอัดในกระติกน้ำแต่มัดด้วยยางรัดหลายเส้น กลัวแตก และกลิ่นจะออก รองเท้าแตะ สบู่ แปรงฟัน ยาสีฟัน แชมพู ครับ! นี่คือสภาพคนที่กำลังไปเรียนเมืองนอก ถือกล่องเบียร์มัดด้วยเชือกฟางมัดละ 5 บาท สีเขียว ข้างกล่องเขียนคำว่า ห้ามโยน ระวังแตก อ๊าย..อาย เดินทางไปดอนเมือง ตอนนั้นสุวรรณภูมิยังไม่เปิด หลายๆคนนึกว่าผมจะไปหมอชิต พวกนี้มีตาแต่หามีแววไม่ ดูไม่ออกเลยหรือว่าคนกำลังเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก่อนผมยอมรับเลยนะว่าการศึกษาในอินเดียไม่ได้เป็นธุรกิจแบบบ้านเราในสมัยนี้ ค่าเรียนก็ถูก ค่าครองชีพก็ถูก แต่มันก็ขึ้นอยู่กับไปที่ไหน หากไปไมซอ มัทราส ปูเณ่หรือปูณ่า นิวเดลฮีหรือนิวเดลลี (คนไทยบางคนชอบออกเสียงนิวเดลลี) ก็อาจจะแพงหน่อยครับ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแนะนำเอาไว้เลยก็คือ
ตังค์ครับ มีตังค์ไหม มี! แต่มีมากไหม หากมีเยอะมากกว่า 5 แสนขึ้นไปผมแนะนำให้ไป นิวเดลฮี ปูณ่า สถานที่มันเจริญๆหน่อย เวลาใครถาม จะได้ยึดอก บอกเขาได้ ว่าตูนี่นะ เด็กนอก เด็กนอกเมืองหลวง เมื่อได้เมืองที่เราจะไปอยู่แล้ว หรือติดต่อใครก็ได้ที่เขาอยู่ยังเมืองนั้นๆ สอบถามรายละเอียดสภาพบ้านเมือง อากาศ ค่าใช้จ่าย นิสัยผู้คน ยังเมืองที่เราจะไปอยู่ จากคนที่อยู่ก่อน จะได้ข้อมูลที่แน่นอนกว่า อย่าไปอ่านตามหนังสือท่องเที่ยวเลยครับ เพราะความจริงที่ปรากฎอยู่ในนั้น ประมาณ 50 % สะตอ! บางคนมาเที่ยวอินเดีย 15 วัน กลับไปเมืองไทย เขียนหนังสือออกมา เหมือนอย่างหนูน้อยหมวกแดงผจญภัยท่ามกลางผู้ก่อการร้าย นิสัยคนอินเดียแต่ละรัฐแต่ละภาคนิสัยแตกต่างกันมาก เหมือนหน้ามือและหลังเท้า และผู้คนแต่ละภาคหน้าตาก็ไม่ค่อยเหมือนกันด้วย นิสัยใจคอก็แตกต่างกันราวฟ้ากะเหว เมื่อครู่เพิ่งเปรียบหน้ามือกะหลังเท้ามาหยกๆ
ประการต่อมา เมื่อได้เมืองที่จะไปแล้ว วิชาที่เราจบมา มันไหวไหมที่พอจะไปเรียนอินเดีย จบกลับมาแล้วผู้คนยอมรับได้ อันนี้ก็มีส่วนนะครับ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีความสำคัญอยู่ไม่ใช่น้อย หากใครจบปรัชญา จบศาสนา จบภาษาสันสกฤต มาเลยครับ ที่เมืองพาราณสี หรือที่สันตินิเกตัน และมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกมากมาย เพราะภารตะคือดินแดนมาตุภูมิเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว หากจบคอม เรื่องนี้สำคัญเพราะปัจจุบันอินเดียคือตลาดคอมใหญ่มาก ถึงกับคนไทยบางคนไม่เคยมาอินเดียสักครั้งนะ แต่ได้ยินแต่เขาเล่าว่า “บังกาลอร์” คุ้นชื่อนี้ไหม
บังกาลอร์คือตลาดผลิตบุคลากรในด้านคอมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันคนไทยเป็นจำนวนมากมาเรียนที่อินเดียโดยเฉพาะที่บังกาลอร์ บังกาลอร์มีจุดเด่นในเรื่องคอมที่คนในเอเชียต่างก็ให้การยอมรับ หากเป็นคณะรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ลองไปที่นิวเดลฮี มหาวิทยาลัย JNU ผู้ที่เหมาะมาเรียนควรเป็นคนที่ได้ทุน ICCR ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็อาจจะมีคณะที่คนไทยนิยมมาเรียนกันบ้าง (คือมาเรียนตามสาย หรืออาจจะมีคนไทยจบไปแล้วหลายรุ่น อย่างนี้ก็มี) เช่นมหาวิทยาลัยปูณ่า มหาวิทยาลัยเดลฮี
ประการที่สาม มหาวิทยาลัย อินเดียมีอย่างหนึ่งที่เหมือนบ้านเรา นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยยอดฮิตและมหาวิทยาลัยยอดแย่ ไม่อยากจะเรียกว่ามหาวิทยาลัยห้องแถว อินเดียเขาก็มีเกรดมหาวิทยาลัยของเขาอยู่ อินเดียเขาก็มีมหาวิทยาลัยดังๆ มหาวิทยาลัยของอินเดียแบ่งออกเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลกลาง มหาวิทยาลัยประจำรัฐ(แต่ก็เป็นของรัฐบาลเหมือนกัน เหมือนราชภัฎบ้านเราคือประจำจังหวัดหรือรัฐนั้น) มหาวิทยาลัยเอกชน ทั่วอินเดียมีมหาวิทยาลัยประมาณ 5000 กว่าแห่ง ก่อนจะมาเรียนยังมหาวิทยาลัยใดๆ ควรเข้าไปเช็คชื่อมหาวิทยาลัยของเราก่อนนะครับว่า ทาง กพ. รับรองไหม
บางมหาวิทยาลัย กพ.รับรองนะครับ แต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ อย่าให้ผมได้บอกชื่อเลย เกรงจะมองหน้าหลายๆคนในอินเดียไม่ติด บางคนมาสอบสัมภาษณ์กันเป็นว่าเล่น ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ผมคงจะตายก่อนที่จะได้บอกความจริง หากเอ่ยรายชื่อมหาวิทยาลัยเหล่านี้ไป เกรงจะเจอสหบาทาคนไทย ที่จบจากมหาวิทยาลัยเหล่านั้น มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งคนที่เรียนในอินเดียเขารุ้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งดีครับ บุคคลากรที่จบจากมหาวิทยาลัยนั้นแหละคือใบประกาศนียบัตรคุณภาพของมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีแต่ข้าราชการมาเอาแค่วุฒิ เพื่อเอาไปปรับฐานเงินเดือนหรือเอาตำแหน่ง คนที่เรียนอินเดียทราบดี
ทิศทางของชีวิต เรียนไปแล้วจะทำอะไร จะเป็นอะไร คิดว่าคนที่มาเรียนถึงระดับนี้แล้ว คงมีคำตอบให้กับตัวเองแล้วนะครับ จบไปแล้วจะไปทำงานอะไร จะไปสมัครสอนที่ไหน มีใครจะเอาไปฝากที่ไหน ครับ! เก่งไม่กลัว กลัวเด็กฝาก ตอนที่เรายังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทหรือปริญญาเอก ครูอาจารย์ท่านใดสอนดีหรือไม่ดีอย่างไร เราดูออก เราสัมผัสได้ถึงความสามารถของท่าน ว่าท่านเก่งหรือไม่เก่ง ดูได้จากอะไรครับ จากวิชาการที่ท่านสอนนั่นแหละ ดังนั้นคนมันเก่งหรือคนจะเก่งอยู่ไหนๆมันก็สายแววเอง มีครูอาจารย์ที่จบจากอินเดียมากมาย ที่เขาเก่ง ดังนั้นคำว่า จบจากอินเดีย อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดสำหรับบางคน
บางมหาวิทยาลัย อาจารย์จบนอกเหมือนกัน มีการแบ่งเกรดกันก็ยังมี จบอเมริกาเหมือนกัน แต่ถามว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหน พูดภาษาอังกฤษได้หรือเปล่า ครูอาจารย์บางท่านจบอเมริกามา แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยห้องแถวก็มี ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยๆก็สามารถพูดได้ว่า จบจากอเมริกา (ขอโทษนะครับที่พาดพิง บังเอิญคนที่มาเรียนอินเดียส่วนมากจะเป็นสายครูอาจารย์) ดังนั้นเราก็ไม่ต้องน้อยใจ หากใครสักคนหนึ่งได้ยินว่าเราจบจากอินเดียแล้วทำหน้า เมิน ก็อย่าไปใส่ใจมาก กระซิบข้างหูสักหน่อย ตูเอาความสามารถมาทำงาน ไม่ได้แบกอินเดียมาทำงาน อินเดียคือห้องเรียนเฉยๆ อิอิ พูดตรงเกินไปหรือเปล่าเนี่ย อินเดียก็เหมือนกันครับ จบอินเดีย จบจากมหาวิทยาลัยไหน จาก...เป็นที่ทราบกันว่า.... (จุดๆๆๆ)
อินเดียเขามีการแบ่งเกรดมหาวิทยาลัยกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก่อนที่จะมาเรียน ควรเช็คประวัติมหาวิทยาลัยก่อนนะครับ
ความพร้อมในเรื่องภาษา เป็นคำแนะนำจากประสบการณ์ของผมเองไม่ว่าคุณจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งไหนในอินเดีย มีชื่อเสียงหรือไม่ ต้องถามตัวเองก่อนว่าภาษาอังกฤษของเราดีแค่ไหนการเรียนในบางสาขาวิชา หากภาษาของเราอ่อน อาจจะใช้ระยะเวลาในการศึกษานานพอสมควร อย่าลืมว่าภาษาอังกฤษคนไทยอ่อนมากในสายตาครูอาจารย์แขก อาจารย์บางคนถึงกับพูดว่า ภาษาอังกฤษนักศึกษาไทยแย่มาก
ภาษาอังกฤษ ดูเหมือนมันจะเป็นตราบาปของคนไปเรียนต่างประเทศด้วยนะครับว่า การที่คุณไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้ และนิสัยของคนไทยอย่างหนึ่งก็คือ ชอบดูถูกคน เช่นใครที่มาเรียนอินเดียจะต้องได้สำเนียงภาษาอังกฤษแบบแขกกลับไป ทั้งที่มีแขกเป็นจำนวนมากทำงานที่องค์กรน่าซ่า ทำงานอยู่ IBM ทำงานที่บริษัท Microsoft ผมก็ไม่เห็น ฝรั่งที่ฟังสำเนียงแขก ฟังแล้วจะหูหนวกสักคน แม้แต่คนไทยที่ไปเรียนที่ประเทศออสเตเรียก็ยังยอมรับเลยว่า ภาษาอังกฤษของคนออสเตเรียบางอย่างก็เพี้ยนๆ ก็ไม่ยักกะเห็นมีคนออกมารังเกลียดภาษาอังกฤษแบบออสเตเรีย เพราะคนเหล่านั้นลืมสารัตถะของการเรียนภาษา...ภาษาเขามีเอาไว้สื่อสารให้คนที่มีภาษาแตกต่างกัน ได้ใช้ในการสื่อสารให้มีความคิดเห็นเหมือนๆกันเท่านั้นเอง ไม่ได้จ้องจับผิด คนสิงคโปร์ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าคนไทยแค่ไหน แต่เขาก็ยังมีเอกลักษณ์สำเนียงคนสิงคโปร์ คนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษ ฟังอย่างไรก็คนญี่ปุ่น คนไทยก็เหมือนกันครับ คนไทยก็มีเอกลักษณ์สำเนียงไทย ดังนั้นสำหรับท่านใด ที่จะมาเรียนที่อินเดีย หากมีใครสักคนหนึ่ง หยิบยกประเด็นนี้มา อย่าไปโกรธเขาเลย ขอให้พัฒนาในเรื่องภาษาครับ จะทำให้การเรียนของเราไม่หนักมาก ผมบอกเอาไว้ก่อนเลยว่า บางมหาวิทยาลัยในห้องเรียนเวลาอาจารย์สอน สอนเป็นภาษาฮินดีนะครับ เนื่องจากนักศึกษาต่างชาติไม่มี เราก็ต้องทนฟังภาษาฮินดี แต่พอตอนสอบ 5555 เราต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ นี้ไงครับ เหตุผลที่กดดัน แมร่งเรียนก็ไม่รู้เรื่อง แต่ให้สอบเป็นภาษาอังกฤษ บางมหาวิทยาลัยหรือสาขาวิชาที่เราลงมีแต่ต่างชาติเรียน ก็สบายหน่อย เขาก็จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้
บางมหาวิทยาลัย การที่เราอ่อนภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นปัญหาต่อเนื่องในภายภาคหน้าของการศึกษาเล่าเรียน คือเรียนไม่รู้เรื่อง สนทนากับครูอาจารย์ก็ไม่ได้ ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่แขกก็ไม่ได้ บางคนถึงกับขาดความมั่นใจที่จะพูดเวลาตนเองมีปัญหาในเรื่องการเรียน หรือเอกสารต่างๆ กับครูอาจารย์ แต่นั้นคงไม่ใช่ปัญหา ที่ควรจะเก็บเอามาท้อหรอกนะครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ มันฝึกกันได้ หากรู้ว่าภาษาเราไม่เก่งก็สามารถเรียนเสริมได้
แต่ก็ถือว่านี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างหงุดหงิดอีกปัญหาหนึ่งเหมือนกัน แม้แต่คนอื่นหรือสำหรับผมเองก็ตาม เมื่อครั้งมาเรียนครั้งแรก เพราะภาษาอังกฤษถือว่าเป็นสื่อสำคัญที่เราจะต้องใช้ในการสนทนากับครูอาจารย์ตลอดจนเจ้าหน้าที่แขกในมหาวิทยาลัยทุกคน นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามศักยภาพตัวเองในเรื่องภาษา ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาอันดับต้นๆ รองจากเรื่องเงิน
ส่วนในเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่เรามักจะมองข้าม หากสภาพจิตใจยังไม่พร้อมที่จะมาเรียนอินเดีย ก็อย่าฝืนใจตัวเองเลยครับ เพราะอาจจะไม่เป็นผลดีสักเท่าไหร่ เพราะการทำอะไรที่ฝืนใจทำ ผลออกมามักจะไม่ค่อย Perfect เท่าที่ควร การเรียนอาจจะดูแย่ ส่วนด้านสภาพร่างกาย สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนก็ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมอีกระดับหนึ่ง เพราะสภาพโรงพยาบาลที่อินเดีย บางเมืองดูแย่มาก บางแห่งไม่คงสภาพให้เห็นว่าเป็นโรงพยาบาล แม้จะเป็นของเอกชนก็ตาม เมื่อเทียบกับบ้านเรา โรงพยาบาลท้องถิ่นที่บ้านเรายังดีกว่ามาก ในสายตาผม แต่หากท่านไปเรียนยังเมืองที่เจริญ ความเป็นอยู่อาจจะเป็นอยู่ที่ดีกว่าเมืองที่ผมอยู่
บางมหาวิทยาลัยประกาศในอินเตอร์เน็ตบอกว่ามีคณะที่เราสามารถเรียนได้ แต่พอมาสมัครเรียนจริงๆ อาจจะมีข้อแม้หรือเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ได้ระบุลงเอาไว้ในเว็บ ไม่มีการเรียนการสอนตามที่ประกาศเอาไว้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ นี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในอีกหลายๆอย่างที่เราอาจจะยังไม่รู้ ซึ่งควรจะต้องทำใจในการเดินทางมาเรียนที่อินเดียและเข้าใจระบบการทำงานของแขกด้วย และเป็นเรื่องที่ทราบกันดีโดยทั่วไปของนักศึกษาไทยในอินเดียถึงเรื่องความล้าช้าอย่างมากๆ และเอามาตรฐาน ISO อะไรมาวัดไม่ได้ แล้วแต่อารมณ์เจ้าหน้าที่ว่างั้นเถอะ
เพราะว่าระบบการศึกษาอินเดียรวมทั้งระบบการทำงานของแขกไม่เหมือนประเทศไทย ขอบอก....หากอยากทราบข้อมูลในเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบการศึกษาจริงๆ ควรสอบถามข้อมูลจากคนที่เพิ่งจบไปหรือหากมีเวลามากและมีสตางค์พอมาหาที่เรียนที่อินเดียด้วยตัวเองจะดีกว่าจะได้รับรู้ถึงสภาพภูมิอากาศของแต่ละรัฐ หรือสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าเราน่าจะกลั้นใจอยู่ได้หรือเปล่า และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดจนอุปนิสัยของแขกในเมืองนั้นๆ ด้วย และมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามนั่นก็คือสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างในบางรัฐที่ท่านจะไปศึกษาต่อ ค่อนข้างหาลำบากหรือหากจะบอกว่าไม่มี ก็คงไม่ผิดอะไรมากนัก เมืองที่ผมอยู่ จะหาน้ำปลาสักขวด ช่างแสนลำบาก จึงไม่แปลกอะไร หากท่านจะนำสิ่งเหล่านี้ติดกระเป๋าเดินทางมาด้วย การเดินทางมาศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่นักศึกษาไทยที่ไปเรียนอเมริกา อังกฤษหรือออสเตเรีย ก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ นั่นก็คือ เรียนที่อินเดีย ไม่สามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยครับ เพราะแค่ประชากรอินเดียก็จะหางานยากอยู่แล้ว
นี่คือสิ่งดีสำหรับการมาเรียนในอินเดียก็คือ มีเวลาเต็มที่ให้กับการเรียน ไม่ต้องไปคิดจะทำงงทำงานอะไร เพราะมันไม่มีให้ทำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น