ความจริงอีกด้าน ของคนเรียนภาษาอังกฤษในอินเดีย...



คนมักจะพูดเสมอว่า “มาเรียนอินเดียก็ได้ภาษาอังกฤษแบบแขก ไปเรียนทำไม?” ก่อนผมจะมาเรียน ไปลาใครต่อใคร เกือบร้อย 80% ไม่ค่อยมีใครเห็นดีเห็นงามด้วยสักคน บ้างก็บอกว่าอินเดียยากจน ขอทานเยอะ จบมาก็มาขายโรตีบ้างแล้วแต่คนจะพูด เพราะเหตุนี้ผมเลยต้องมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง สิบปากว่าไม่เท่าคุณตาคุณยายเห็น แต่พอมาเรียนจริงๆ เออหว่ะ... คนเหล่านั้นพูดถูกครึ่งหนึ่ง อินเดียเป็นประเทศยากจนครับ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อินเดียมีขอทาน แต่อาจจะเยอะมากไปหน่อยเท่านั้นเองครับ “อินเดียไม่ใช่ประเทศที่ดีที่สุด แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเรามาเรียนอะไร และเราได้อะไรและรู้อะไรจากที่เรียนมา และที่สำคัญนำเอาไปใช้ที่ประเทศของเราได้หรือเปล่า” เพื่อนฝรั่งที่เรียนด้วยกัน พูดให้ฟัง ถึงเหตุผลทำไมฝรั่งอย่างเขาถึงต้องมาเรียนที่อินเดีย มีคนไทยหลายๆคนอยากมาเรียนอินเดียเพราะอยากได้ภาษาอังกฤษ แต่พอมาอยู่จริงๆ การดำเนินชีวิตประจำวันไม่น่าจะเรียกว่า มาเรียนเอาภาษา การคลุกคลีอยู่เฉพาะกลุ่มคนไทย เป็นเรื่องที่คนไทยมักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ “เพราะคนไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด” และเป็นเหตุผลหลักๆที่ทำให้คนไทยหลายๆคนมาอยู่หลายๆ ปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง ไม่ใช่ว่าพูดไม่ได้ แต่ยังพูดไม่คล่อง 

บางมหาวิทยาลัยเรียนในห้องเป็นภาษาท้องถิ่นของรัฐนั้นๆ  แต่ถึงเวลาสอบเราต้องสอบเป็นภาษาอังกฤษ จะขำหรือฮาดี คนไทยไม่ค่อยมีนิสัยอยู่แยก มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดังนั้นก่อนจะมาเรียนควรทำการบ้านหรือสอบถามรายละเอียดให้ดี ว่ามหาวิทยาลัยที่เราจะมาเรียนในสาขาวิชานั้นๆ มีชาวต่างชาติไหม คืออย่างน้อยๆก็พอจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราเรียนภาษาอังกฤษได้พัฒนาขึ้นมาได้ บ้าง หรือไม่ก็พยายามคบเพื่อนแขกที่เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี จะทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการพัฒนาภาษา  เพราะบางมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติมากนัก ส่วนมหาวิทยาลัยที่ชาวต่างชาติมาเรียนค่อนข้างเยอะ เช่น  Delhi University, JNU Delhi, Pune University, Punjab University and Banaras Hindu University etc. มหาวิทยาลัยเหล่านี้ ขึ้นชื่อว่าอยู่ระดับแนวหน้าของอินเดียการเลือกครูสอนภาษาอังกฤษ: ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในอินเดีย ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่อินเดียมา ผมแทบจะไม่มีครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นครูแขกหรือคนอินเดียเลย (ขออนุญาตใช้คำว่าแขกนะครับด้วยความเคารพ) ผมเที่ยวเสาะแสวงหาเพื่อนบ้าง ครูบ้างที่เป็นฝรั่ง เพราะผมมีเหตุผล คือเมืองที่ผมอยู่ฝรั่งค่อนข้างเยอะ เลยต้องใช้ทรัพยากรตรงนี้ให้คุ้ม เพื่อให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ แต่ก่อนผมเคยให้อาจารย์ที่ปรึกษาช่วย หาคนช่วยสอนให้ แต่ท่านพูดเองว่า ให้หาคนต่างชาติสอนให้ดีแล้ว เพราะภาษาอังกฤษของคนอินเดียส่วนมากวิบัติ ทั้งๆที่ท่านก็เป็นคนอินเดีย ผมโคตะระซึ้งในน้ำใจแกจริงๆเลย หลายปีแล้วที่ผมเรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งในอินเดีย จ้างเดือนละ 1,000 รูปี โคตะระแพงเลยใช่ไหมครับ หากคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 700 บาท บางคนก็ประมาณ 1,500 รูปี ต่อเดือน จากแต่ก่อนแทบฟังฝรั่งพูดไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งทุกวันนี้ ฟังรู้เรื่องขึ้นมานิ๊ดหนึ่ง ดีกว่าแต่ก่อนมาก ที่พูดได้แต่ How are you? I am fine. Thank you and you? 

 อาจารย์บอกว่าไม่มีใครจะเข้าใจธรรมชาติของภาษาอังกฤษได้ดีเท่ากับเจ้าของ ภาษา การออกเสียง กาลเทศะ สำนวน การใช้ ดังนั้น ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางดงแขก แต่ผมก็เลือกที่จะอยู่นอกกรอบ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเรียนภาษาอังกฤษกับฝรั่งมากกว่าแขก แต่ส่วนมากจะนำเอาไปเอาสิ่งที่เรียนมานำเอาใช้กับแขก บางประโยคแขกก็ไม่เข้าใจ เราก็ต้องกลับไปใช้ประโยคที่เขามักจะใช้กัน เพราะต่างคนต่างก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา ตอนเรียนไม่ค่อยเห็นผล แต่จะเห็นผล ตอนได้คุยกับฝรั่งจริงๆ คือฝรั่งฟังรู้เรื่อง เพราะเราออกสำเนียงชัด ตามคนสอน ตอนอยู่เมืองไทยไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษมากเท่าไหร่ แต่พอได้มาอยู่อินเดีย การใช้ภาษาอังกฤษอาจจะไม่มาก แต่ก็ดีกว่าเรียนที่เมืองไทยนิดหนึ่ง ยังพอมีโอกาสได้ใช้บ้าง แต่ถ้าหากใครมีเงินเยอะ ไปอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย ดีกว่าครับ ส่วนอินเดียอาจจะเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีต้นทุนน้อย หรือคนที่มีสาขาวิชาควรจะมาเรียนอินเดีย เช่น ปรัชญาและศาสนา หรือเรื่องคอมพิวเตอร์ หากใครจบไปจากอินเดียได้ ถือว่าเก่งมาก

มาเรียนภาษาอังกฤษที่อินเดียระยะสั้นๆ: คนไทยมักจะคิดว่าการมาเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นๆ จะทำให้พูดภาษาอังกฤษได้ และก็มองหาประเทศที่เขาพอจะใช้ภาษาอังกฤษ และอินดียก็เป็นหนึ่งในนั้น อย่ามาเลยครับ! เรียนที่เมืองไทยนั้นแหละดีแล้ว การเรียนภาษาต้องเรียน ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ คุณต้องทุ่มเทเวลาให้กับมันอย่างน้อยๆ ประมาณ 3-4 ปี หากตั้งใจจะมาเรียน เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนหนึ่งบ้าง แล้วหลังจากนั้นหล่ะ ถ้าเรากลับเมืองไทย เราจะพูด จะคุยกับใคร สิ่งที่เรียนมาตลอดระยะเวลา หนึ่งเดือนสองเดือนก็จะลืม เพราะไม่ได้ใช้อย่างสม่ำเสมอ ทางที่ดีก็คือใช้ชีวิตให้มีความเกี่ยวเนื่องกับภาษาอังกฤษบ่อยๆ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ 
หลายปีมาแล้ว เคยมีฝรั่งบอกประโยคทองให้กับผมว่า “การเรียนภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดก็คือต้องเรียนด้วยหู อย่าเรียนด้วยตา” หมายความว่า ให้ฝึกฟังบ่อยๆครับ จงพูดอย่างที่ฝรั่งเขาพูด เขาถึงจะเข้าใจในสิ่งที่เราพูด อ่านหนังสือทำให้เราเข้าใจโครงสร้างประโยคและได้คำศัพท์ แต่ไม่สามารถช่วยให้เราเก่งในด้านการพูด แต่การฝึกทักษะในด้านการฟัง ทำให้เราสนทนากับฝรั่งรู้เรื่อง

อะไรๆก็บังกาลอร์: ผมเคยได้รับการสอบถามมาเยอะมาก เกี่ยวกับมาศึกษาที่บังกาลอร์ บ้างก็อยากมาเรียนที่นี้ จริงๆแล้วที่น่ามาเรียนภาษา มีเยอะครับในอินเดีย อาจเป็นเพราะเราอาจจะไม่ทราบ ไม่จำเป็นต้องเรียนที่นี้ที่เดียว ที่ไหนที่คนไทยรู้จักเยอะ ที่นั้นย่อมมีคนไทยอยู่เยอะ สมการง่ายๆ พอมีคนไทยอยู่เยอะ การจับกลุ่มอยู่ด้วยกันก็จะตามมา แล้วสิ่งที่ท่านตั้งใจจะมาเรียนก็คือมาเรียนภาษาอังกฤษ ก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะวันๆอาจจะเจอแต่คนไทย พูดคุยแต่ภาษาไทย แล้วจะเก่งภาษาอังกฤษได้อย่างไร ถ้าถามผมว่า แล้วมีที่ไหนบ้าง ที่ไม่มีคนไทย ผมยังนึกไม่ออก หากจะบอกว่า ดาร์จีลิ่ง ธรรมศาลา ฉิมล่า ล้วนแล้วแต่มีคนไทย บางแห่งเด็กไทยกองกันอยู่เป็นร้อยสองร้อยคน

ความกังวล: หลายคนที่ยังไม่เคยมา อินเดียอาจจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ หากตั้งใจจะมาเรียนและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย อย่ากังวลให้มากเลยครับ เพราะภายในรั้วมหาวิทยาลัยและข้างนอกมหาวิทยาลัยคุณภาพชีวิตบางรัฐแตกต่าง กันมาก เพราะสภาพความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัยดีกว่า หมายถึงบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยเป็นป่า มีต้นไม้ มีสัตว์นานาชนิด ที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นที่เมืองไทย แต่พอออกนอกมหาวิทยาลัย บรรยากาศอาจจะดูแย่กว่าข้างในยู ส่วนอาหารการกิน ทำกินเองดีที่สุด ขนมาทุกอย่างเท่าที่พอจะขนมาได้ คะนอร์ ผงชูรส น้ำปลา (บางเมืองก็มีขายแล้ว) กะปิ ทำให้ช่วยประหยัดและได้ทานอาหารที่เราทำเองด้วยสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟัง มันคือความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ผมได้เจอมาจากการได้มาเรียนในอินเดีย 

เกือบระยะเวลา 10 ปี มีคนมักจะถามผมอยู่เสมอว่า มาเรียนทำไมนานจัง เรียนเอาโล่หรือ ผมมีเหตุผลหลายประการที่จะตอบเพื่อทำให้ตัวเองดูดี กับการเวลาที่สูญเสียไป บางคนอาจจะได้อะไรเยอะแยะเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ผมเรียนอยู่ แต่สิ่งหนึ่ง ที่อาจารย์มักจะพูดกรอกหูเสมอว่า “ถ้าอยากได้ใบประกาศไปเอาใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแก ถ้าอยากได้ความรู้และใบประกาศ เราค่อยมาเป็นอาจารย์ลูกศิษย์กัน” “คุณรู้สิ่งที่คุณเรียนมา และสามารถอธิบายให้คนอื่น เป็นภาษาอังกฤษได้หรือยัง” นี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลของการเรียนเอาโล่ (10 ปีs)

สิ่งหนึ่งที่ผมเฝ้ามองเห็นความแตกต่างของคนที่มา เรียน คือ มาเหมือนกัน แต่การมาต่างกัน เรียนเหมือนกัน แต่ผลการเรียนต่างกัน อยู่เหมือนกัน แต่การอยู่แตกต่างกัน จบเหมือนกัน แต่คุณภาพแตกต่างกัน(มาก) ครับ นี้แหละ เรื่องลับที่ไม่ค่อยลับ ที่อยากจะเล่าสู่กันฟังของคนที่มาเรียนที่อินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น