ปีนี้หากนับวันเดือนปีดูแล้ว ก็ย่างเข้าปีที่ 9 แล้ว ที่ตัวผู้เขียนได้มาใช้ชีวิตอยู่ ดินแดนภารตะ จนบางคนเริ่มทักว่า จะเป็นแขกไปแล้ว เพราะหากทำอะไรซ้ำๆ มันจะทำให้เกิดความเคยชิน จนไม่รู้ตัว เกือบ 9 ปีแล้ว ที่ได้เอาลมหายใจมาทิ้งไว้ที่อินเดีย "เรียนจนผมหงอก" ก็เพิ่งมารู้หรือมาเห็นด้วยตัวเอง ก็เมื่อได้มาอยู่อินเดีย ว่าเรียนจนผมหงอกเป็นไง
เคยมีคนพูดว่า หากอยู่ในสังคมไหนนานๆ เรามักจะถูกกลืนเข้าสังคมนั้น หรือเรียกว่า ถูกสังคมนั้นๆกลืน มีคนยกตัวอย่างว่า คนที่เรียนหรือจบจากเมืองนอกเมืองนามา เช่น จบจากยุโรป หรืออยู่ที่โน้นนานๆ นิสัยใจคอจะเหมือนพวกฝรั่ง อ้าว...ว ผมเรียนและอยู่ที่อินเดียมานาน ถ้าอย่างนั้น ผมก็คงเหมือนคนอินเดียไปแล้วใช่ไหมเนี่ย ผมก็เคยมานั่งนึกนอนนึกอยู่ว่า ผมมาเรียนอินเดีย ผมได้นิสัยแขกอะไรบ้าง ที่พอจะเอาติดเนื้อติดตัวกลับไปเมืองไทย บางครั้งก็นึกออก บางครั้งก็นึกไม่ออก เพราะยังอยู่ในอาการเบลอๆ แต่สิ่งหนึ่งที่กลัวติดตัวไปอย่างมากๆ นั่นก็คือ ความมีประชาธิปไตยมากเกินไป ที่อินเดียนี้แหละครับ ประชาธิปไตยเต็มใบเลย อยากทำอะไรก็ได้ ทำไปเถอะ แต่อย่าทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จะขี้จะเยี่ยวข้างทาง หากไม่อายชาวบ้านชาวช่องหรืออายฟ้าดิน ก็ทำไปเถอะ อยากจะขี่จะขับรถสวนเลน อยากจะกดแตรตลอดเส้นทาง ก็กดไปเถอะหากมีแรงกด อยากจะเปิดไฟสูงตลอดเส้นทางก็เปิดไปเถอะ หากไม่กลัวหัวเทียนดับ จะขับรถปาดหน้าปาดหลัง ก็ขับไปเถอะ แต่อย่าไปชนรถหรือชนชาวบ้านเขา เท่านั้นพอ อยากกินอะไร จะทิ้งตรงไหน ก็ทิ้งไปเถอะ อยากจะร่วมประท้วงก็ไปเถอะ ไม่มีใครว่า แต่อย่าไปปิดสถานที่ราชการเขาเท่านั้นพอ อะไรจะอิสระเท่ากับอินเดียอีกแล้วครับท่าน ขนาดอังกฤษแม่แบบประชาธิปไตย ยังทนไม่ได้ ยังต้องหนี เพราะอยากขี้ตรงไหนก็ขี้ไง
อีกอย่างหนึ่งไม่รู้ว่าคนอื่นๆเป็นเหมือนผมหรือเปล่า นั้นก็คือกลายเป็นคนขี้ระแวง ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใครง่ายๆ เพราะที่อินเดียหาคนจริงใจยาก ระแวงตลอดเวลาว่า เอ้ย มันจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากเราหรือเปล่า มันจะมาโกงเราหรือเปล่า กลายเป็นว่า เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เหมือนเป็นคนโรคจิตชนิดหนึ่ง ขึ้นรถไฟก็ไม่อยากพูดคุยกับคนแปลกหน้าและหน้าแปลก ไม่กล้ารับอะไรกินจากคนแปลกหน้า เพราะกลัวโดนวางยา กลัวว่าหลังจากเราโดนวางยาแล้ว มันจะทำอะไรมิดีมิร้ายกับเราหรือเปล่า แค่คิดก็เสียวแล้ว สังคมแขก สอนให้เป็นคนระมัดระวัง หรือจะพูดให้ดูดีหน่อยก็คือ สอนให้รู้จักคน คนแบบไหนควรคบและไม่ควรคบ ปกติในชีวิตจริงก็ไม่ค่อยมีเพื่อนอยู่แล้ว ย่ิ่งมาเจอสังคมแบบนี้ พอๆอยู่บนเกาะร้างคนเดียวเลย คนดีๆก็มี แต่คนดีๆเขามักจะไม่ค่อยมาหาเรา ส่วนมากจะเป็นพวกที่คอยจ้องแต่ผลประโยชน์จากเรา อย่างที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้แหละว่า เพราะอินเดียมีคนเยอะ ทุกคนต่างต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หากใครอ่อนแอ่ในสังคมมาก คนนั้นก็เหมือนปลาที่ตายและพร้อมจะไหลไปตามกระแสน้ำอยู่ตลอดเวลา ในสังคมแบบนี้ ทุกคนสามารถเป็นนักล่าและคนถูกล่าได้พอๆกัน หากเราเสียรู้ให้กับใครสักคนหนึ่ง เราคือเหยื่อ จากพ่อค้าแม่ค้า สังคมแบบนี้สอนผมให้กลายเป็นคนขี้ระแวง ตกลงจะดีใจหรือเสียใจดีเนี่ย
และที่สำคัญสอนเราให้รู้จักวางเฉยๆ หรือจะเรียกอย่างไรให้ถูก เขาเรียกว่าปล่อยวางหรือปลงกับชีวิตได้ง่าย บางครั้งกำลังทานอะไรอยู่ มีคนหามศพผ่านไปหน้าตาเฉย มีขอทานตัวมอมแมม เดินมาขอเงิน ขี้คนบ้าง ขี้วัวบ้าง ขี้แพะ สารพัดขี้ บนท้องถนน หากใครคอตื้น คงทานอะไรไม่ได้ ที่นี้เขาสอนให้เรารู้จักปล่อยวาง
และสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการใช้ชีวิตหรือจากการสัมผัสวิถีชีวิตของแขกที่นี้ นั่นก็คือ รู้จักพอ จึงจะ "พอเพียง" บ้านหลังไม่ใหญ่มาก ต้องขยี้ตาดูหลายๆรอบ เพราะไม่มั่นใจว่า นั่นมันใช่บ้านหรือเปล่า แต่ โอ๊วแม่เจ้า อยู่กันไปได้อย่างไร ตั้ง 8-9 คน รวมทั้งแพะและควายไปด้วย แต่เขาอยู่กันได้ นอนดมเยี่ยวควายวัวและขี้แพะ ไปไหนไม่ไกลมากก็ปั่นจักรยานไป รถก็ไม่ต้องหรูหรามาก ขอแค่ไม่ให้ได้เดินก็พอแล้ว ครูอาจารย์บางท่าน เป็นถึง ศาสตราจารย์ ปั่นจักรยานมาสอน ขี่รถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ มาสอน ใส่รองเท้าแตะ เคี้ยวหมาก หากคนพวกนี้ไปเที่ยวบ้านเรา ก็คงเหมารวมว่าคงเป็นหนึ่งในบรรดาแขกทั้งหลาย ที่หลบหนีเข้ามาทำงานบ้านเราหรือมาขายถั่วหรือโรตีแน่ๆ เพราะดูสภาพแค่เปลือกภายนอกแล้ว บอกตามตรงว่า สีรับไม่ได้จริงๆ เพราะสังคมบ้านเรามักสอนเราหรือทำให้เรารู้ว่า คนที่จะมีความสุขได้ ต้องมีรถ มีบ้าน มีเสื้อผ้าสวยๆใส่ และที่สำคัญ ต้องมีหนี้ หากไม่มีหนี้ ก็ไม่มีหน้า มันเป็นคำพูดเสียดสีสังคม และเราท่านทั้งหลายก็ก้มหน้าก้มตา ยอมรับกันต่อไป บางคนประหยัดมาก ก็ถูกสังคมตราหน้าว่า ขี้เหนียว บ่อยครั้งที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสถึงก้นครัวของแขก เขาทำกับข้าวๆแบบพอเพียงจริงๆ ไม่ทำมาก
บางบ้านรถที่ว่าหรูสุดหรูสำหรับเขาก็คือ Zuzuki Maruti คันไม่ใหญ่มาก แต่ก็ดีกว่าเดิน ผมเคยมองสังคมอินเดียแล้วมองย้อนกลับไปสังคมบ้านเรา เป็นถึง ศาตราจารย์ คณบดี ดร. จะทนได้ไหม หากไปสอนนักเรียน แล้วต้องมาปั่นจักรยานหรือขี่มอเตอร์ไซค์เก่าๆ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งถูกต้องที่ครูอาจารย์ควรทำ แต่เรากลับมองว่า ไม่สมฐานะ ไม่เหมาะ น่าอาย กลัวนักเรียนนักศึกษานินทา ฯลฯ นี้คือสิ่งที่ผมได้ค้นพบ สำหรับสังคมที่นี้ อินเดียเหมือนทองในห่อผ้าในกองขยะอีกทีหนึ่ง ในกองขยะมีสิ่งที่คนเป็นจำนวนมาก ทิ้งและรังเกลียด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งกลับนำสิ่งของจากกองขยะเหล่านั้น เอาไปขาย และตอนนี้ผมก็เริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าผม ผมเริ่มกลายเป็นคนเก็บขยะ
และอินเดียก็เป็นเหมือนกองขยะสำหรับคนไทยบางกลุ่มที่ไม่อยากเข้าใกล้ ครูอาจารย์บางคน ถึงแม้จะให้มาสัมมนาฟรี บางคนก็ไม่อยากจะมา อยากจะไปโซนยุโรปมากกว่า สิ่งที่ยกอุปมาให้ฟัง ก็คงไม่เกินความจริงไปมากนัก จะมีสักกี่คนเชียวที่อยากจะมาอินเดีย บางคนหากไม่มีพระพุทธเจ้า หรือไม่มีพุทธสถาน หรือหากไม่มาเรียน จ้างให้มาก็ไม่มา
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า อย่างไรๆ คนอินเดีย เขาไม่รู้หรอกว่า เกิดเป็นคนไทยแล้วดีอย่างไร อย่างน้อยๆ ความจนในอินเดียมันคือกรรมพันธุ์ (วรรณะ) ที่คนอินเดียกลุ่มหนึ่งไปทำงานที่เมืองไทยและส่วนหนึ่งก็กลายเป็นคนไทยเชื่อสายอินเดียไปแล้วนั้น เขาก็บอกว่า คนไทยที่โชคดี ที่ความจนไม่ใช่กรรมพันธู์ (การศึกษาทำให้คนไทยเป็นนายคนได้) และคนอินเดียบางคน ก็เริ่มคิดหนัก เพราะสิ่งหนึ่งที่คนไทยมีนั่นก็คือ การเปรียบเทียบระหว่าง มี ไม่มี จน กับรวย มีหน้า ไม่มีหน้า สังคมไทยมีในสิ่งที่สังคมอินเดียไม่มี และสังคมอินเดียมีในสิ่งที่สังคมไทยไม่มี
คนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังโหยหา "ความพอเพียง" ทั้งที่ยังไม่รู้จักคำว่า "พอ" แต่ในขณะคนอินเดียกลุ่มหนึ่ง เขารู้จักคำว่า "พอ" เขาจึงพอเพียง
คนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังโหยหา "ความพอเพียง" ทั้งที่ยังไม่รู้จักคำว่า "พอ" แต่ในขณะคนอินเดียกลุ่มหนึ่ง เขารู้จักคำว่า "พอ" เขาจึงพอเพียง